medicalfocusth

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แนะวิธีอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ด้วยการออกกำลังกายปอด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แนะวิธีอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ด้วยการออกกำลังกายปอด
ในยุคที่เราต้องอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ซึ่งเชื้อเกิดการกลายพันธุ์อยู่บ่อยครั้ง เราจึงควรที่จะเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพร้อมไว้เสมอ โดยเฉพาะปอด

นพ.กฤษณะ เกียรติโชควิวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลวชิรพยาบาลกล่าวว่า หลักฐานจากหลายงานวิจัยบ่งชี้ว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถกระตุ้นภูมิกันร่างกาย และลดอัตราการติดเชื้ออื่น ๆจากชุมชนได้ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1.การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน โดยแนะนำให้ออกกำลังกายในความหนักระดับปานกลาง ไม่ควรหนักจนเกินไป สังเกตง่าย ๆ ได้จากการพูด ซึ่งขณะออกกำลังกายควรจะพูดได้เป็นประโยคที่ไม่ขาดคำ แต่ไม่ถึงกับร้องเพลงได้ และควรทำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที สำหรับในผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมาก่อน ควรจะเริ่มต้นแบบเบา ๆ เช่น เดินต่อเนื่อง 10 นาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้นอย่างช้า ๆ การออกกำลังกายประเภทนี้มีข้อควรระวัง คือ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมัน โรคไต โรคหัวใจ หากออกกำลังกายอย่างไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากมีอาการหรือมีโรคประจำตัวมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย ส่วนที่ 2 คือการออกกำลังกายบริหารปอด จะทำเพื่อให้ปอดแข็งแรงขึ้นโดยวางมือข้างหนึ่งไว้ที่หน้าอกและวางมืออีกข้างหนึ่งไว้ที่ท้อง จากนั้นหายใจเข้าและออกช้า ๆ อย่างผ่อนคลายโดยมีหลักการสำคัญคือขณะหายเข้าใจเข้าต้องให้ท้องป่อง และขณะหายใจออกต้องให้ท้องยุบ

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ covid-19 ซึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย การออกกำลังกายปอดสามารถเริ่มทำได้ทันทีหากมีสัญญาณชีพคงที่ โดยเริ่มจากการฝึกหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ ช้า ๆ ทำได้โดยการกางแขนขึ้นสองข้างขณะหายใจเข้าและเอาแขนลงขณะหายใจออก ทำประมาณ 10 ครั้งต่อรอบ ทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ สำหรับผู้ป่วยมีอาการปานกลางถึงรุนแรง แนะนำปรึกษาทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดช่วยประเมินอาการและทำกายภาพบำบัดตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการส่องกล้องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคของโควิด 19 การดูแลสุขภาพปอดเป็นสิ่งสำคัญจริง แต่การระมัดระวังตัวเองก็เช่นเดียวกัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หรือ หลีกเลี่ยงสถานที่ ๆ มีความเสี่ยงหรือสถานที่แออัด สำคัญที่สุดคือ หมั่นดูตัวเอง เมื่อใดที่มีอาการได้แก่ มีไข้ ไอจาม มีน้ำมูก หรือ สัมผัสบุคคลที่ติดเชื้อ แนะนำให้มาพบแพทย์ทันที