medicalfocusth

ม.มหิดลคิดค้นโมเดล 3 มิติ ทดสอบยารักษามะเร็งจอประสาทตาในเด็ก
ม.มหิดลคิดค้นโมเดล 3 มิติ ทดสอบยารักษามะเร็งจอประสาทตาในเด็ก
เมื่อชีวิตหนึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นาน แต่ต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างน่าเสียดาย ไม่ใช่เพียงผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยที่ต้องเผชิญกับโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันอย่างโรคมะเร็ง เด็กก็อาจเกิดมะเร็งได้ และอาจต้องสูญเสียการมองเห็น เมื่อพบมะเร็งที่จอประสาทตา

เพื่อเอาชนะเพชรฆาตไร้เงาที่มักก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ภายในร่างกาย คอยจ้องทำร้ายทำลายชีวิตมนุษย์อย่างโรคมะเร็ง เทคโนโลยีทางการแพทย์จึงรอช้าไม่ได้ที่จะต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อโรค

นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมสร้างโมเดลก้อนเนื้อมะเร็งจำลอง 3 มิติในห้องปฏิบัติการ โดยอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความหวังที่จะให้เด็กๆ ที่ประสบกับโรคมะเร็งจอประสาทตาได้มีโอกาสรอดชีวิต และยังคงมองเห็น หรือไม่ต้องสูญเสียดวงตาไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แก้วขาว อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ผลงานการประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงาน "นวัตกรรมการสร้างก้อนเนื้อมะเร็งจำลองของมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก" ได้กล่าวถึงที่มาของการริเริ่มคิดค้นผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เกิดจากข้อจำกัดในการทดสอบยากับเซลล์มะเร็งจอประสาทตาในเด็กนั้น ไม่สามารถทำได้โดยตรงกับผู้ป่วย จำเป็นต้องเก็บชิ้นเนื้อที่มีเซลล์มะเร็งมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์ในการทดสอบทางยาที่สามารถให้การรักษาได้อย่างตรงจุด

ซึ่งการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อสร้างก้อนเนื้อมะเร็งจำลองของมะเร็งจอประสาทดังกล่าว ต่างจากการเพาะเลี้ยงเซลล์โดยทั่วไปในห้องปฏิบัติการ ที่ทำในจานเพาะเลี้ยงซึ่งมีลักษณะแบน แต่จะมีการใช้เทคนิคพิเศษเพื่อการเพาะเลี้ยงให้เป็น 3 มิติ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมได้ยิ่งขึ้น

ในเบื้องต้นทีมวิจัยประสบผลสำเร็จจากการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งที่ได้จากผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งจอประสาทตาของโรงพยาบาลรามาธิบดี และใช้โมเดลดังกล่าวจนสามารถค้นพบยาที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจอประสาทตาเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งรายงานผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติเพื่อขยายผลต่อไป

มะเร็งจอประสาทตาในเด็กสามารถรักษาให้หายได้ และลดเสี่ยงสูญเสียดวงตา หากสามารถตรวจพบได้ในระยะแรก จึงควรหมั่นสังเกตบุตรหลาน และเมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมทุ่มเทระดมทรัพยากร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มากด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อดูแลปวงชนชาวไทย ให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง และโรคหายากต่างๆ ให้ได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210