|
|
|
|
|
|
|
เสริมสร้างภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต |
|
|
|
×
|
|
|
|
โรคไตเรื้อรังนั้นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก ประมาณการกันว่า 1 ใน 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกนั้นมีภาวะไตเรื้อรัง แม้ปัจจุบันจะมีการรักษาไตเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการบำบัดทดแทนไตวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนไต การฟอกไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดก็ตาม แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้และยังไม่มียาตัวใด ๆ ที่สามารถฟื้นการทำงานของไตเรื้อรังให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้นการรักษาโรคไตเรื้อรังที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการป้องกันและการชะลอไตเสื่อมไม่ให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายนั่นเอง
ถึงแม้โรคไตเรื้อรังจะเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากนั้นไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะไตเรื้อรังซ่อนอยู่ เนื่องจากอาการเริ่มต้นของโรคไตเรื้อรังมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีปัสสาวะตอนกลางคืนหรือมีปัสสาวะเป็นฟอง การคัดกรองโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญเพื่อทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคไตเรื้อรังได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงของโรคดังต่อไปนี้ เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, เก๊าท์หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง, ผู้ป่วยที่มีเรื่องนิ่วหรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรังและผู้ป่วยที่รับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นประจำ เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและตรวจดูความผิดปกติของปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง
เมื่อตรวจพบโรคไตเรื้อรังแล้ว การรักษาจะมุ่งเน้นเพื่อชะลอการเสื่อมของไตไม่ให้ผู้ป่วยเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไต การรักษาจะมีทั้งการรักษาสาเหตุและการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ไตเสื่อมได้ไวขึ้น ส่วนใหญ่แล้วยาของแพทย์เพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่สามารถทำให้ถึงเป้าหมายของการรักษาได้ ผู้ป่วยที่มีความรู้ในการดูแลตนเองและสามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะทำให้ผลของการรักษาดีขึ้น โดยสามารถทำได้ดังนี้ 1. รับประทานยาครบตามกำหนด เพื่อควบคุมความดันโลหิตและภาวะเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 2. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองและทำให้ไตเสื่อมไวขึ้น 3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มีการรับรอง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยามารับประทานเองทุกครั้ง 4. ลดอาหารรสเค็มและรับประทานสารอาหารประเภทโปรตีน, อาหารที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณที่เหมาะสม โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตอาจจะมีความแตกต่างแต่ละระยะของโรค จึงควรรับประทานอาหารตามที่แพทย์หรือนักกำหนดอาหารแนะนำ 5. ควบคุมน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ BMI (18.5-25) และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 6. หลีกเลี่ยงความเครียดและมาพบแพทย์ตามกำหนด ปัจจุบันการรักษาโรคไตเรื้อรังมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง, การปฏิบัติตัว, ผลการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ เป็นต้น การเสริมสร้างภูมิความรู้เหล่านี้ของผู้ป่วยและญาติจะทำให้การดูแลโรคไตเรื้อรังทำได้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยและญาติก็ควรจะต้องระวังข้อมูลที่ผิดหรือการโฆษณาเกินจริงซึ่งสามารถแฝงเข้ามาตามช่องทางเหล่านี้ได้เช่นกัน นอกจากจะทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังอาจจะมีผลเสียต่อโรคไตที่เป็นอยู่ด้วย ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาจึงควรนำไปปรึกษากับทีมแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำมากำหนดวางแผนการรักษาร่วมกัน
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมจัดกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2565 ขึ้น ภายใต้คำขวัญ “เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” โดยในปีนี้กิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6- 13 มีนาคม 2565 และจะจัดงานวันไตโลก ในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 ในรูปแบบออนไลน์(Facebook live/zoom) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 10.00 – 13.30 น. ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ อาทิ เสวนาการให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต, การแสดงของศิลปินดารานักแสดงจากช่อง 3 , การสาธิตการปรุง เมนูอร่อย ลดความเสี่ยงโรคไต สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือ เว็บไซต์ www.nephrothai.org
บทความโดยโดย นพ.โสฬส จาตุรพิศานุกูล อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
|
|
|
|
|
|