medicalfocusth

ม.มหิดล เตือนพฤติกรรมเนือยนิ่งจากวิกฤติ COVID-19 เสี่ยงโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) สูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงวัย
ม.มหิดล เตือนพฤติกรรมเนือยนิ่งจากวิกฤติ COVID-19 เสี่ยงโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) สูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงวัย
เวลาไม่เคยทำร้ายผู้ที่ไม่ปล่อยชีวิตให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้เวลาจะทำให้สภาพร่างกายต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่หากมีใจสู้ และไม่อยู่เฉย ก็จะสามารถใช้เวลาที่มีอยู่บนโลกได้อย่างมีความสุข

"กล้ามเนื้อ" เป็นองค์ประกอบที่น่ามหัศจรรย์ของร่างกาย ซึ่งไม่เหมือนเงินทองที่ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป แต่ในทางกลับกัน หากยิ่งได้ใช้ โดยการฝึกฝนกล้ามเนื้ออย่างพอเหมาะ และสม่ำเสมอสำหรับในแต่ละช่วงวัย ร่างกายจะยิ่งแข็งแรง ลดเสี่ยง "โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)" หรือการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่มากับพฤติกรรมเนือยนิ่งจากวิกฤติ COVID-19 ได้

กภ.ทวีศักดิ์ ปฐม หัวหน้างานกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์จังหวัดนครสรรค์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในผู้สูงวัย

แต่อาจพบได้ในผู้ที่มีวัย 40 ปีขึ้นไป สังเกตุได้จากลักษณะแขนขาที่ลีบเล็ก และอ่อนแรงลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันพบจำนวนไม่น้อยที่เป็นโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าผู้ที่มีรูปร่างผอมบางทุกรายจะเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ก่อนอื่นจะต้องเข้ารับการตรวจและประเมินสุขภาพโดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน

ในเบื้องต้นแพทย์จะใช้เครื่องมือประเมินมวลกล้ามเนื้อ Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) ซึ่งตามเกณฑ์ของ Asian Working Group for Sarcopenia (AWGS) หากได้ค่าน้อยกว่า 7.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศชาย และน้อยกว่า 5.7 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศหญิง จึงจะถือว่าเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)

นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งนอกจากการทดสอบโดยสังเกตุจากการนั่ง-ลุก-ยืน-เดิน และการวัดความเร็วในการเดินแล้ว ยังใช้เครื่องวัดแรงบีบมือ (Hand-Grip Strength) ร่วมทดสอบ ซึ่งตามเกณฑ์ของ AWGS จะต้องมีแรงบีบไม่ต่ำกว่า 26 กิโลกรัมในเพศชาย และไม่ต่ำกว่า 18 กิโลกรัมในเพศหญิง

กภ.ทวีศักดิ์ ปฐม ได้แสดงความห่วงใยถึงผู้ป่วยโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ในกลุ่มของผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่พบได้มากกว่าผู้ป่วยในช่วงวัยอื่น ซึ่งนอกจากจะมีแขนขาที่ลีบเล็กลงจากการขาดการออกกำลังกายจนต้องสูญเสียมวลกล้ามเนื้อแล้ว มักเข้ารับการบำบัดด้วยอาการเหนื่อยอ่อน แม้เพียงการเคลื่อนไหวปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่ง-ลุก-ยืน-เดิน เป็นต้น

จึงได้แนะนำการทำกายภาพบำบัดอย่างง่าย ซึ่งหากทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ไม่อาจทำให้มีมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจนเหมือนผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่ก็จะสามารถช่วยชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และรู้สึกแข็งแรงมากขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

เพียงไม่ปล่อยให้ผู้สูงวัยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หากิจกรรม หรือพยายามเคลื่อนไหวเท่าที่พอจะทำได้ และต่อเนื่อง แม้ในรายที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) การพยายามใช้แรงมือและแขนพยุงตัวให้ลุกขึ้นเดินด้วยตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อเข่า ขา และเท้าได้เคลื่อนไหว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งมือ แขน ไหล่ หลัง และสะโพกได้เคลื่อนไหวไปด้วย

อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มที่เป็นปัญหาของผู้สูงวัยที่เกี่ยวเนื่องกับโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)ในผู้สูงวัยอีกด้วย

โดยไม่แนะนำให้ผู้สูงวัยกลั้นหายใจระหว่างออกแรงเคลื่อนไหว แต่ควรให้ได้ฝึก "หายใจเข้า" ด้วยจมูก และ "หายใจออก" ทางปาก สลับกันอย่างเป็นจังหวะ จะช่วยทำให้ผู้สูงวัยไม่รู้สึกวิงเวียนศีรษะระหว่างการทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสมรรถภาพการทำงานของปอดให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย

สำหรับผู้สูงวัยในรายที่ยังสามารถยืนและเดินได้ด้วยตัวเองโดยปกติ เพียงพยายามยืนขึ้นแล้วฝึกใช้มือและแขนดันผนังในแนวตั้ง โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงกดอยู่เป็นประจำ ก็จะสามารถช่วยในการฝึกกำลังแขนได้โดยไม่ต้องซื้อหาอุปกรณ์พิเศษใดๆ มาใช้ให้สิ้นเปลือง และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ได้

ซึ่งภารกิจของงานกายภาพบำบัด ไม่ใช่เพียงการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาวะผู้ป่วยของศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์จังหวัดนครสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย

แต่ยังให้บริการประชาชนครอบคลุมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง - ภาคกลางตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท และ นครสวรรค์ วิสัยทัศน์เพื่อมุ่งสู่การเป็น "Excellence Center" หรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงวัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย

โดยหวังให้ดูแลใส่ใจสุขภาพผู้สูงวัยกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้วยการพยายามหาเวลาให้ผู้สูงวัยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กายและใจพร้อมฝ่าฟันต่อไปได้ในทุกสถานการณ์

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210