medicalfocusth

วิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมแนวทางรับมือ “การแพ้อาหาร” โรคฮิตเด็กรุ่นใหม่ สู่ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี
วิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมแนวทางรับมือ “การแพ้อาหาร” โรคฮิตเด็กรุ่นใหม่ สู่ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี
การแพ้อาหารจัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งพบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ และพบในเด็กเล็กบ่อยกว่าเด็กโต โดยปัจจุบันเด็กไทยมีแนวโน้มแพ้อาหารสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า การแพ้อาหารเป็นสาเหตุหลักของอาการแพ้รุนแรงที่พบในโรงพยาบาล ซึ่งถ้าภาวะการแพ้อาหารไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ปัจจุบันโรคแพ้อาหารในเด็ก มักพบขณะที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน เพราะเด็กส่วนใหญ่อาจพลาดไปกินอาหารที่แพ้โดย
ไม่รู้และไม่ตั้งใจ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือแนวทางชัดเจนจากสมาคมวิชาชีพ ที่จะช่วยให้โรงเรียนมีความรู้และสามารถรับมือกับการดูแลนักเรียนที่มีอาการแพ้อาหารที่โรงเรียนได้ รวมถึงหลายโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมกันเอง ส่งผลให้บางโรงเรียนถึงขั้นไม่ยอมรับนักเรียนที่แพ้อาหารเข้าเรียนเลยทีเดียว เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ส่วนผู้ปกครองของเด็กที่มีภาวะแพ้อาหารจะมีความวิตกกังวล และมักหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กกินอาหารหลายชนิดโดยไม่จำเป็น

จากช่องว่างความรู้ที่พบในเรื่องของโรคแพ้อาหารในเด็ก จึงนำไปสู่การเติมเต็มและตอบโจทย์ปัญหาด้วยงานวิจัย
ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เล่าถึงความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยเรื่องการประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลเด็กนักเรียนที่แพ้อาหาร และการพัฒนาสื่อทางดิจิทัลบน
แอปพลิเคชันและระบบโทรเวชกรรม เพื่อให้ความรู้และเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแลเด็กให้กับบุคลากรของโรงเรียนและผู้ปกครองในการรักษาโรคแพ้อาหาร ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ สวรส. ร่วมกับ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัท True Digital Group จำกัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ที่หวังจะแก้ปัญหาการแพ้อาหารในเด็ก โดยส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็นสื่อความรู้ และพัฒนาระบบการประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กให้กับบุคลากรและทีมสุขภาพของโรงเรียน ให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลเด็กที่แพ้อาหารในโรงเรียนได้ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในการดูแลรักษาและส่งต่อผู้ป่วย โดยมีภาคเอกชนอย่าง True Digital มาช่วยในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกงานวิจัยที่จะสามารถขยายผลให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยนำไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศได้ในอนาคต และส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่แพ้อาหาร มีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับสาเหตุของโรคแพ้อาหาร ในอดีตส่วนมากมักเกิดจากกรรมพันธุ์ ขณะที่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยเด็กแพ้อาหารเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารที่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรค หันไปต่อสู้กับสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายแทน ถือเป็นการทำงานที่ผิดปกติต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช นักวิจัย สวรส. เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยต่างประเทศว่า 10% ของการแพ้อาหารในเด็ก มักเกิดขึ้นที่โรงเรียน และจากการสำรวจในโรงเรียนที่มีนักเรียนอย่างน้อย 350 คนต่อโรงเรียน พบว่า แต่ละโรงเรียนจะพบการแพ้อาหารที่โรงเรียน อย่างน้อย 1.3 คนต่อปี และ 1 ใน 15 โรงเรียน จะพบการแพ้อาหารในนักเรียนที่มีอาการรุนแรง รวมถึง 1 ใน 24 โรงเรียน มีความจำเป็นต้องใช้ยาฉีด adrenaline เพื่อการรักษา1 ส่วนชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ได้มากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง แป้งสาลี และอาหารทะเล โดยในประเทศไทยพบว่า นมวัวและไข่เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารมากที่สุดในเด็กเล็ก ส่วนอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง เป็นสาเหตุการแพ้อาหารที่พบมากในเด็กโต และในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยที่แพ้แป้งสาลีมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ปกิต ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า งานวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินการประเมินภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าในบทบาทของโรงเรียน มีความพร้อมในการรับมืออย่างไร ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีบางโรงเรียนเริ่มมีการจัดทำทะเบียนนักเรียนที่แพ้อาหารและวางแผนการอบรมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว โดยระหว่างนี้งานวิจัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเก็บข้อมูลที่ครอบคลุม 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ระบบการจัดเก็บข้อมูล การลงทะเบียน และการประเมินความพร้อมของโรงเรียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อจัดทำสื่อดิจิทัลที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค และการดูแลเบื้องต้นที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีที่พบอาการ ในรูปแบบของ Line Official Account (Line OA) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย และมีเมนูต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ปกครองและโรงเรียน เช่น ความรู้เกี่ยวกับโรคแพ้อาหาร การลงทะเบียนและทำแบบประเมิน เมนูสำหรับผู้แพ้อาหาร การรักษาโรคแพ้อาหาร ฯลฯ ซึ่ง Line OA ดังกล่าว สามารถรองรับการใช้งานที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ รวมทั้งสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ด้วยรูปแบบออนไลน์ได้อีกด้วย และสื่อดิจิทัลดังกล่าว สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้สำหรับผู้ปกครองและทีมสุขภาพในโรงเรียนที่มีความสนใจในเรื่องโรคแพ้อาหาร สามารถ add Line OA : FoodAllergyFREE School Program เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้เท่าทันโรค และป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลถึงชีวิตของเด็กๆ ได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก Line OA จะสามารถนำไปปรับปรุงมาตรฐานการดูแลเด็กที่แพ้อาหารในโรงเรียน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยงานวิจัยดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จและขยายผลการใช้ประโยชน์ในเดือน ก.ค. 2566 นี้

........................................
ข้อมูลจาก :
- โครงการวิจัย การประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร และการพัฒนาสื่อดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่นและระบบโทรเวชกรรม เพื่อให้ความรู้และเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแล ให้กับบุคลากรของโรงเรียนและผู้ปกครองในการรักษาโรคแพ้อาหาร, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ งานวิจัยการประเมินความพร้อมของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร และการพัฒนาสื่อดิจิทัล เพื่อช่วยให้โรงเรียนมีการดูแลเด็กที่แพ้อาหารให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
1 Waserman et al. J Allergy Clin Immunol Pract 2021;147:1561-78