medicalfocusth
หมอฟันเตือนอุดฟันด้วยเจล เสี่ยงหลุดลงคอ อันตรายถึงชีวิต
×
กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรมเตือนใช้เจลอุดฟัน ซ่อมฟันเอง เสี่ยงหลุดลงคอ ปิดกั้นหลอดลม หายใจไม่ออกอันตรายถึงชีวิต ควรพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายงานข่าวในสื่อออนไลน์ พบว่ามีการนำเจลสารพัดประโยชน์มาอุดฟัน และซ่อมฟันที่มีรอยแตกบิ่น รวมถึงนำมาอุดเพื่อแทนที่ฟันที่สูญเสียไปได้ และสามารถติดทนนาน เป็นการกระทำที่อันตรายเป็นอย่างมาก หากเจลหรืออุปกรณ์ดังกล่าวหลุดลงคอ และปิดกั้นหลอดลมหรือระบบทางเดินหายใจ รวมถึงยังเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีเพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์อาจเข้าสู่ร่างกายได้
ดังนั้น การอุดฟันหรือการรักษาทางทันตกรรม ควรได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธี วัสดุที่ใช้ภายในช่องปากต้องเหมาะสมและได้มาตรฐานสำหรับการรักษา เพื่อให้ฟันซี่นั้นๆ กลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก ควรลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุดฟันเป็นการรักษาหรือบูรณะฟันที่เกิดความเสียหาย เช่น ฟันผุ ฟันเป็นรู ฟันที่แตก ฟันบิ่น ฟันที่มีรอยสึก ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ มีรูปร่างลักษณะเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงฟันเดิม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจ วางแผนและดูความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้บูรณะ ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการบูรณะฟัน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ วัสดุอมัลกัมที่นิยมใช้บูรณะฟันหลัง และวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน เช่น วัสดุเรซินคอมโพสิต ซึ่งก่อนการบูรณะฟันไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด ต้องมีการเตรียมโพรงฟัน โดยทำการกรอตัดเนื้อฟันที่ผุออก และแต่งฟันให้มีขนาดรูปร่างที่เหมาะสมต่อวัสดุบูรณะนั้นๆ แล้วจึงทำการบูรณะฟันได้ ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์ และอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยภายหลังจากการบูรณะฟันแล้ว ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก แปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน ตลอดจนควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง