medicalfocusth

ม.มหิดลต่อยอดสร้างยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออก ลดไข้ - อาการรุนแรง
ม.มหิดลต่อยอดสร้างยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออก ลดไข้ - อาการรุนแรง
แต่ละปี ประชากรครึ่งโลกเสี่ยงต่อไวรัสไข้เลือดออกที่แพร่โดยจากยุงลาย มีผู้ป่วยถึง 100 ล้านคนที่ต้องเข้าพักฟื้นในโรงพยาบาล แต่จนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มียาเฉพาะในการรักษาโรคนี้

นับเป็นเวลากว่าทศวรรษที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ทุ่มเททำวิจัยคิดค้นยาแอนติบอดียับยั้งไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งผ่านการทดสอบในหนูและลิง โดยแอนติบอดีรุ่นแรกนี้มีบริษัทยาต่างประเทศมาเซ็นสัญญาลงทุนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์แล้ว

ขณะนี้บริษัทได้ขนาดของยาที่จะนำไปใช้ทดสอบในอาสาสมัครในปีหน้า (พ.ศ. 2567) แล้ว เป็นแอนติบอดีที่จับโปรตีนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสเข้าเซลล์มนุษย์ไม่ได้ โดยมีเป้าหมายใช้รักษาในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ในช่วง 7 วันแรกของการติดเชื้อ

แต่ปัญหา คือ อาการความรุนแรงของโรค เช่น เกล็ดเลือดต่ำ การรั่วของเส้นเลือด และการเพิ่มของไวรัส จะเกิดในช่วง 7 วันหลังที่ยารุ่นแรกไม่สามารถจัดการได้ ปัจจุบันได้ต่อยอดพัฒนาแอนติบอดีตัวใหม่ในการลดความรุนแรงของโรคในช่วง 7 วันหลัง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความสำเร็จล่าสุดที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปานน้ำทิพย์ รามสูต นักศึกษาปริญญาเอก นางสาวรจนวรรณ สุทธิโชติ และทีมวิจัย สามารถพัฒนายาแอนติบอดีชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก โดยได้รับการจดสิทธิบัตร และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก "Biomedicines 2023, 11(1), 227" ในปีนี้

โดยแอนติบอดีรุ่นใหม่นี้ สามารถยับยั้งไวรัสในช่วง 7 วันแรก และยังสามารถลดอาการความรุนแรงของโรค ที่จะเกิดใน 7 วันหลังของการติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มียารักษาไข้เลือดออกที่รักษาอาการป่วยของโรคได้ทั้ง 2 ช่วง

นอกจากนี้ นวัตกรรมแอนติบอดีรุ่นใหม่นี้ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ "Lab to Market" จาก "ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี" (Yothee Medical Innovation District - YMID) ซึ่งอยู่ภายใต้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยขณะนี้มีการจัดตั้งบริษัท Spin off เพื่อพัฒนานวัตกรรมนี้สู่เชิงพาณิชย์

ผลงานวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองในห้องปฏิบัติการ มีกำหนดทดสอบจริงในอาสาสมัครในปี พ.ศ. 2567 โดยจะเป็นการลงทุนทางสุขภาพของประเทศที่คุ้มค่า ด้วยศักยภาพของการเป็นยาแอนติบอดีที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะสามารถใช้รักษาโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210