medicalfocusth
“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
×
กรมการแพทย์ชี้ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบได้บ่อยในคนไทย แนะหมั่นสังเกตตนเองหากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย สามารถพบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด โดยพบได้ประมาณ 3,000-4,000 คนต่อปี มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณรักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้แล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถ เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น
แพทย์หญิงศศินิภา ตรีทิเพนทร์ อายุรแพทย์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งประเภทออกเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยมักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก ให้การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin lymphoma) พบมาก และแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัดซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วอยู่ค่อนข้างดี กลุ่มนี้ต้องรักษาทันที หากไม่รักษาผู้ป่วย อาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสหายขาดจากโรคได้มาก แม้จะอยู่ในระยะไหนก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาดด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ และติดตามอาการเป็นระยะ ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดได้จากทั้ง การติดเชื้อทั้ง virus เช่น HIV, HCV, EBV การติดเชื้อ bacteria ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง, พันธุกรรม, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา, สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งเป็น อาการทางระบบหรือ B-symptom เช่น อาการไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์, เหงื่อออกตอนกลางคืน, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเบื่ออาหารผิดปกติ อาการเฉพาะที่ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณนั้นๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ เป็นต้น
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปัจจุบันให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่เริ่มมีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน ฉายแสงในบางกรณี และการปลูกถ่ายไขกระดูกในเคสที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคที่กลับเป็นซ้ำด้วยการใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย
ติดตามความรู้ข่าวสารด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง
http://allaboutcancer.nci.go.th/
เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง
https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/
และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง