โรคเรื้อนหรือโรคเนื้อชาเป็นแล้วรักษาหายขาดได้
โรคเรื้อนหรือโรคเนื้อชาเป็นแล้วรักษาหายขาดได้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังเชิญชวนประชาชนมาทำความรู้จักโรคเรื้อนหรือโรคเนื้อชา สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แนะนำการดูแลและสังเกตผิวหนังตนเอง หากมีอาการผื่นขาว หรือผื่นแดง ไม่รู้สึกคัน มีอาการชาร่วมด้วยให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับรักษาที่ถูกต้อง

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง เชื้อโรคเรื้อนจะไปทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย โรคเรื้อนในระยะเริ่มแรก จะเป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อน้อย มักพบเป็นผื่นไม่มาก ผื่นมีสีขาวหรือสีแดง ผิวหนังแห้งชา ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะนี้ โรคจะทวีความรุนแรงขึ้น เป็นโรคเรื้อนชนิดเชื้อมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นนูน หรือตุ่มแดงทั่วตัว ไม่คัน และอาจมีอาการของเส้นประสาทถูกทำลายทำให้มีอาการมือเท้าชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ประชาชนควรหมั่นดูแลผิวหนังตนเอง หากมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรคถึงขั้นเกิดความพิการตามมา

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติม โรคเรื้อน หรือ โรคเนื้อชา (Leprosy หรือ Hansen’s disease) เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ มัยโคแบคทีเรียม เลเปร (mycobacterium leprae) โรคเรื้อนเป็นโรคที่ติดต่อ ทางระบบทางเดินหายใจ ผ่านการ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย แต่ไม่ใช่โรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย คนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ คือ คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีเชื้อมากเป็นเวลานาน และได้หายใจเอาเชื้อโรคนี้ลอยในอากาศเข้าสู่ร่างกาย แต่โดยทั่วไปมากกว่าร้อยละ 95 ร่างกาย คนเราจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อโรคเรื้อนอยู่แล้ว ถึงแม้จะได้รับเชื้อก็จะไม่ป่วยเป็นโรค โรคเรื้อนรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อโรคเรื้อน โดยต้องรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี แล้วแต่ความรุนแรงของโรค ความพิการ มือเท้าชา กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวนับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้

#Mdicalfocusth
#กรมการแพทย์
#สถาบันโรคผิวหนัง
#โรคเรื้อนหรือโรคเนื้อชา
#โรคผิวหนัง