medicalfocusth

ม.มหิดล - Duke University วิจัยการตรวจ MRI ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง
ม.มหิดล - Duke University วิจัยการตรวจ MRI ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง
อาการเจ็บหน้าอกเป็นสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจ "MRI หัวใจ" เป็นเครื่องมือเพื่อวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่แม่นยำ เทคนิคการตรวจมาตรฐานใช้การฉีดสารทึบแสง gadolinium ซึ่งอาจพบภาวะไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยบางราย ในปัจจุบันมีวิทยาการที่ก้าวหน้าที่ใช้การตรวจเทคนิค native T1 mapping MRI เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดโดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่สำคัญจากงานวิจัยใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยิ่ง เกาลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การศึกษาเดิมก่อนนี้พบความผิดปกติจากการตรวจ native T1 mapping ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง คือ พบค่า native T1 ของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงผิดปกติ ทำให้เชื่อว่าเทคนิคนี้น่าจะใช้วินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรังได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง

งานวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยิ่ง เกาลวณิชย์ ร่วมกับ Duke University ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าค่า native T1 ที่สูงผิดปกติในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง แท้จริงแล้วเกิดจากไขมันในกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ใช่จากพังผืดของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โดย native T1 mapping ไม่สามารถวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังได้โดยตรง ซึ่งไขมันในกล้ามเนื้อหัวใจนั้นไม่ได้พบในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังทุกราย และไขมันนี้ก็ยังพบในโรคหัวใจอื่นได้ การใช้เทคนิค native T1 mapping ในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรังจึงต้องมีความระมัดระวัง โดยผลที่ได้อาจไม่แม่นยำ หากไม่ได้ตรวจโดยการฉีดสารทึบแสง gadolinium คำแนะนำต่างๆ ของสมาคมแพทย์ที่ตรวจ MRI หัวใจ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แพทย์ทราบข้อจำกัดนี้

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับ Top 1% ของโลก Journal of American College of Cardiology : Cardiovascular Imaging ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 สร้างความภาคภูมิใจในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" แก่มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณ 1,400 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ประมาณปีละ 20,000 ราย ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งวิธีป้องกันโรคทำได้โดยการหมั่นดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น งดสูบบุหรี่ และรีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210