medicalfocusth

กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 แล้ว 27 ราย ชี้อาจแพร่เร็วกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 ส่วนความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้นขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 แล้ว 27 ราย ชี้อาจแพร่เร็วกว่า XBB.1 และ XBB.1.5  ส่วนความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้นขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม ในประเทศไทย ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามใกล้ชิดในปัจจุบัน ได้แก่
• สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 1 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5
• สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1*, BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* และ XBF*

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์สายพันธุ์ทั่วโลก สัปดาห์ที่ 12 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) สายพันธุ์ XBB.1.5 มีรายงานการตรวจพบจาก 95 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบสัดส่วน 17.6%, 7.6% และ 4.0% ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย สัปดาห์ที่ 8-14 เมษายน 2566 สายพันธุ์ XBB* มีสัดส่วนลดลง แต่ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมาก เป็นลำดับที่ 1 โดย XBB.1.16* พบในตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 22 ราย และเดือนเมษายน 2566 จำนวน 5 ราย (XBB.1.16 = 26 ราย และ XBB.1.16.1 = 1 ราย) รวม 27 ราย สำหรับ XBB.1.9.1* มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ในส่วนของ XBB.1.5 พบมากเป็นลำดับที่ 2 โดยพบสัดส่วน 27.5% ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงในการก่อโรคที่เพิ่มขึ้น และข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ XBB และ XBB.1.5 แต่คุณสมบัติด้านการหลบภูมิคุ้มกันยังคงเหมือนกัน
สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม ได้แก่ E180V, F486P และ K478R รายงานครั้งแรกจากประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2566 ต่อมาองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 โดยพบมากที่สุดในประเทศอินเดีย รองมาคือ สหรัฐอเมริกา โดยพบการระบาดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2566 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 มีลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ คันตา มีขี้ตา ร่วมด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี Real-time PCR และ ชุดทดสอบ ATK สามารถใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม เพื่อค้นหาผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยและแยกตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว การทำงานของ ATK อาศัยหลักการทดสอบทางภูมิคุ้มกัน (Immunoassay) ซึ่งเป็นหลักการที่อาศัยการจับกันระหว่างแอนติเจน (antigen) และแอนติบอดี (antibody) โดยส่วนใหญ่ออกแบบให้ตรวจจับโปรตีน N ซึ่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามไม่ส่งผลกระทบ


“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ และประสานขอให้ รพ.ทั่วประเทศ ส่งตัวอย่าง มาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป สำหรับประชาชนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และฉีดวัคซีน จะช่วยลดการแพร่เชื้อ และรับเชื้อ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว