medicalfocusth

งานวิจัยคลิกแนวคิด “Work-Life Balance” ค้นหามาตรการแก้วิกฤต “Burnout” – สร้างสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพคนทำงาน เพิ่มผลิตผลของสังคม
งานวิจัยคลิกแนวคิด “Work-Life Balance”  ค้นหามาตรการแก้วิกฤต “Burnout” – สร้างสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพคนทำงาน เพิ่มผลิตผลของสังคม
การขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ซึ่งแต่ละองค์กรมีบุคลากรหลากหลายช่วงวัย โดยปัจจุบัน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” เป็นกลุ่มสำคัญหนึ่งในองค์กร ซึ่งมีแนวคิดในการทำงานและการใช้ชีวิตในแบบ “Work-Life Balance” หรือการสร้างสมดุลชีวิตระหว่างงานและความเป็นส่วนตัว ที่ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลควรต้องทำความเข้าใจ

ภาพสะท้อนหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือปรากฏการณ์ “The Great Resignation” หรือการลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งแรงงานจำนวนมากประสบกับภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการทำงาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุปัญหาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือปัจจัยในแง่ของสุขภาพและสุขภาวะ (Health & Well-being) ที่กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงกันมากขึ้น

ปัญหาสุขภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีกว่า 58 ล้านคน พบว่าจำนวน 38 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการหรือที่ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สร้างรายได้และผลผลิตให้กับสังคม รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กลับกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพิการ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ออฟฟิศซินโดรม ไปจนถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ ที่ล้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ ย่อมจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีหลายองค์กรนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น หากแต่ทรัพยากรมนุษย์ก็ยังเป็นส่วนที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงาน แต่ทว่าแรงงานมนุษย์กลับต้องเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ความเครียดจากการทำงาน หรืออาการออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

“โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เขามีมุมมองแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องจัดการระบบหรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะต้องไม่ลืมว่าเราใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน สิ่งสำคัญจึงเป็นสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำให้เขามีความสุขกับการทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วผลงานก็จะถูกสะท้อนออกมาจากคุณภาพชีวิตของคนทำงานนั่นเอง” นพ.นพพร ให้มุมมอง
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ปี 2564 ฉบับล่าสุด ในประเด็นด้านสาธารณสุข ได้มีการกำหนดกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ “การสร้างเสริมสุขภาพ” ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษา NCDs สำหรับประชาชนและผู้ป่วย โดยเน้นที่นโยบายและมาตรการในที่ทำงาน พร้อมกำหนดเป้าหมายให้มี “นโยบายสุขภาพในที่ทำงาน (Workplace Health Policy)” โดยสถานประกอบการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ต่างเป็นสถานที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ช่วยลดความเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทำงาน

ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลผลิตขององค์กรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศได้อีกด้วย
เพื่อให้สอดรับกับเรื่องนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้มีการสนับสนุนโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ

สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร.นพ.เจตน์ รัตนจีนะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคจากการทำงาน (อาชีวเวชศาสตร์) และการสร้างเสริมสุขภาพภายในองค์กร และเครือข่ายวิจัย สวรส. ได้ระบุถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า การทำงานและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงาน มีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ซึ่งสุขภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ในขณะที่ความเจ็บป่วยและการที่ลูกจ้างต้องเข้ารับการรักษา ย่อมส่งผลเสียต่อผลผลิต
เรื่องนี้เองนับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในระดับโลก ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่มีการดำเนินนโยบายระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ โดยจัดตั้งเครือข่าย The European Network for Workplace Health Promotion (ENWHP) หรือคณะทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้สนับสนุนในประเด็นที่ว่า ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพราะเรื่องนี้นอกจากจะเป็นจริยธรรมทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีผลต่อธุรกิจด้วยเช่นกัน
ส่วนของประเทศไทย ดร.นพ.เจตน์ ได้มีการศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล ซึ่งพบว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องทางการเงิน จะให้ความสำคัญต่อสุขภาพพนักงาน เพราะทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น โดยจัดเป็นรูปแบบของสวัสดิการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองสุขภาพ กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย แข่งกีฬา รวมถึงการกำหนดเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ หรือให้แรงจูงใจผ่านกลไก เช่น สะสมแต้มแลกรางวัล เป็นต้น

ในขณะที่องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็ก พบว่า มักมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ไม่มีงบประมาณดำเนินการ หรือในบางสถานประกอบการอาจมีลักษณะงาน หรือระบบนิเวศที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการที่มีที่ตั้งหลายแห่ง จะยากต่อการทำกิจกรรม มีลักษณะงานไม่เอื้อ ทำงานไม่เป็นเวลาเดียวกัน หรือโรงงานที่ต้องเดินสายการผลิตตลอด หยุดไม่ได้ รวมไปถึงการที่ไม่ได้สร้างความตระหนักด้านสุขภาพให้กับพนักงานตั้งแต่แรกเข้า ตลอดจนระบบนิเวศโดยรอบสถานประกอบการที่ไม่เอื้อ เป็นต้น
“จากข้อมูลและผลวิจัยสามารถสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นข้อเสนอมาตรการต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน สำหรับมาตรการตัวเงิน ภาครัฐอาจต้องมีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถานประกอบการ อาทิ ให้งบสนับสนุนการทำกิจกรรม หรือลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่มีกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ

การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับสถานประกอบการที่ดูแลสุขภาพของพนักงานได้ดี มีสวัสดิการการตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจสุขภาพตา เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพ กรณีผู้ประกันตนไม่เจ็บป่วย ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ควรจัดทำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้ชัดเจน มีการให้ความรู้/คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมหรือดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ควรมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้มีพื้นที่ของการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม รวมถึงการออกเป็นกฎหมายให้สถานประกอบการกำหนดเวลาให้พนักงานทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น” ดร.นพ.เจตน์ ให้ข้อมูล

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลให้ความสนใจมากขึ้น และพนักงานเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น และเป็นสุขภาพที่ต้องครอบคลุม 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพทางสังคม
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า หากมองจากสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน ที่ผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลหลายแห่งสะท้อนว่าต้องเผชิญกับอัตราการลาออกที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสุขภาพจิต ความเครียด ทำให้หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ โดยมีการบริหารจัดการเชิงระบบในรูปแบบของสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงาน ซึ่งเปรียบเสมือน Soft Power ในการช่วยดึงดูดคนทำงานให้อยู่ในองค์กรได้ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อค้นหาบทบาทที่เหมาะสม และมาตรการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะในภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคไม่ติดต่อของคนทำงานที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ ตลอดจนเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายในระดับองค์กรต่อไป
.................................

ข้อมูลจาก
- โครงการวิจัย การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- เสวนาวิชาการ “Chula Health and Well-being at Work Forum 2023: การสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรสู่ความยั่งยืน”