medicalfocusth

ม.มหิดลชี้อันตรายจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และวิธีฟอกสีฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน
ม.มหิดลชี้อันตรายจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และวิธีฟอกสีฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน
ฟันที่ขาวสะอาด นอกจากบ่งบอกถึงการดูแลสุขอนามัยส่วนตัวที่ดีแล้ว ยังหมายถึงการเปิดรับโอกาสดีๆ ที่อาจเข้ามาสู่ชีวิต จากการมีรอยยิ้มที่มั่นใจคอยส่งเสริมบุคลิกภาพ


ทันตแพทย์ศุภกิจ นิยมรัตนกิจ ทันตแพทย์ปฏิบัติงาน โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "การฟอกสีฟัน" ในทางทันตสาธารณสุขถือเป็น "ปัจจัยรองลงมา" จากการรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ปราศจากโรคฟัน และโรคเหงือก

สาเหตุที่การฟอกสีฟันมีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากสื่อโฆษณา โดย ทันตแพทย์ศุภกิจ นิยมรัตนกิจ ได้ตั้งข้อสังเกตุให้ชวนคิดว่าเป็นภาพจากการฟอกสีฟันธรรมชาติที่มีอยู่เดิมให้ขาว หรือเป็นทันตกรรมประดิษฐ์ จากการเคลือบผิวฟันด้วยวัสดุทดแทน (Veneer)

อย่างไรก็ดี การฟอกสีฟันให้ขาวสะอาดมีความจำเป็นที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยในปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งโดยทันตแพทย์ และด้วยตัวเอง ซึ่งน้ำยาที่ทันตแพทย์ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเปอร์ออกไซด์ (Peroxide) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เม็ดสีฟันที่เข้มจางลง


โดยระดับความขาวขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำยาและเวลาที่ใช้ในการฟอก ซึ่งน้ำยายิ่งเข้มข้น แม้จะยิ่งทำให้ใช้เวลาฟอกสีฟันได้สั้นลง แต่อาจส่งผลทำให้สารฟอกสีฟันแทรกซึมเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน ทำให้ง่ายต่อการเสียวฟัน และเหงือกระคายเคืองได้ ระยะห่างของการฟอกสีฟันแต่ละครั้งจึงควรอยู่ระหว่าง 6 เดือน - 1 ปี

ทันตแพทย์ศุภกิจ นิยมรัตนกิจ ได้กล่าวแนะนำต่อไปอีกด้วยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟอกสีฟันขาวเป็นช่วงที่ง่ายต่อการติดสี จึงควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารสีเข้ม เช่น แกงที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศที่ให้สีต่างๆ อาทิ พริก และขมิ้น รวมทั้งซอสปรุงรส และเครื่องดื่มที่มีสารสีเข้ม เช่น น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำพวกไวน์แดง หรือวิสกี้ ตลอดจนควรงดสูบบุหรี่ เพราะอาจเกิดคราบจากสารนิโคติน และควันบุหรี่ได้

นอกจากนี้ ข้อควรระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถาดฟอกสีฟันที่ทำมาจากเทอร์โมพลาสติกซึ่งโฆษณาว่าจะสามารถเปลี่ยนรูปได้ตามลักษณะฟัน หลังจุ่มด้วยน้ำร้อนก่อนนำไปใช้ แต่แท้ที่จริงแล้วอาจเกิดเป็นช่องว่างทำให้น้ำยาฟอกสีฟัน ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายไหลลงคอได้

ในขณะที่อีกทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ได้แก่ การพบทันตแพทย์เพื่อพิมพ์ปากทำถาดพร้อมรับน้ำยากลับไปฟอกสีฟันด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งเป็นน้ำยาฤทธิ์อ่อน ประเภทคาร์บาไมด์เปอรอกไซด์ (Carbamide Peroxide) ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 10 - 15 สามารถใส่ลงถาดใช้ครอบฟันขณะนอนหลับ จะทำให้ฟันค่อยๆ ขาวขึ้นได้ตามความต้องการภายในประมาณ 2 สัปดาห์ สามารถติดต่อขอเข้ารับบริการได้ที่ โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่พญาไท และศาลายา

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th





สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210