medicalfocusth
แพทย์แนะนำผู้ปกครอง ควรเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของบุตรหลานให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในฤดูฝน โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ
×
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ส่วนมากมักเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งทำให้มีหลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบติดเชื้อหรือปอดบวม รวมถึงโรคมือเท้าปากและโรคไข้เลือดออกที่มีการระบาดในช่วงหน้าฝนนี้เช่นกัน สาเหตุการติดเชื้อมาจากการสูดหายใจเอาละอองหรือสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ เช่น น้ำมูก หรือน้ำลาย อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ส่วนไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) มักจะมีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก รับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1-3 วัน อาจมีอาการไอมากขึ้น ไข้ หายใจเสียงดังหรือหายใจลำบากได้หากอาการรุนแรงมากขึ้น สำหรับโรคมือเท้าปากนั้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยมีอาการเด่นที่ผิวหนังคือ มีตุ่มนูน แดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการกระจายของตุ่มผื่นทั่วตัวได้รวมถึงที่เข่าและก้น เด็กมักมีไข้สูง ไม่ยอมรับประทานอาหาร เพราะรู้สึกเจ็บตุ่มแผลในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม ในส่วนของโรคไข้เลือดออกนั้น มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เด็กมักมีอาการไข้สูงนำมาก่อนอาการอื่น มักไม่พบอาการไอน้ำมูก อาจพบหน้าแดงตัวแดงผิดปกติ และอาจพบอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องที่ชายโครงขวา เป็นต้น
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคที่มาในหน้าฝนนั้น สามารถให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานได้โดย การให้สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ อย่างสม่ำเสมอครบถ้วนตาม 7 ขั้นตอน นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าเพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น และออกกำลังกายที่เหมาะสมตามวัยเพื่อให้ร่างกายลูกมีภูมิต้านทานโรค เนื่องจากสภาพอากาศหน้าฝนจะมีความชื้นสูงและหนาวเย็น จึงทำให้ร่างกายเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และที่สำคัญควรกำจัดน้ำขังในบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย อันเป็นพาหะนำโรคของไข้เลือดออกอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่าไข้สูง 2 ถึง 3 วัน และอาการไม่ดีขึ้น หรือเด็กไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข เช่น กินไม่ได้ ซึมลง นอนไม่ได้ หายใจหอบเหนื่อย หรือกระสับกระส่าย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป