medicalfocusth

กรมอนามัย-GISTDA เปิดตัว App. Life Dee ช่วยเตือนค่าฝุ่น พร้อมขยับเกณฑ์ค่าฝุ่นใหม่
กรมอนามัย-GISTDA เปิดตัว App. Life Dee ช่วยเตือนค่าฝุ่น พร้อมขยับเกณฑ์ค่าฝุ่นใหม่
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชน กรมอนามัยซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี จึงร่วมกับ GISTDA หน่วยงานที่มีความสำคัญในการผลิตข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำหรับการศึกษาวิจัย คาดการณ์ เตรียมการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีความรู้และทักษะอย่างถูกต้องและเท่าทัน จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ผ่านมา กรมอนามัยและหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และการตัดสินใจจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับพื้นที่

“Application ‘Life Dee’ ถือเป็นความร่วมมือล่าสุดระหว่างกรมอนามัย และ GISTDA ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีฟังก์ชันการดูแลและป้องกันสุขภาพที่หลากหลาย ดังนี้ 1) ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 PM10 ข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิ 2) ข้อมูลสุขภาพ เช่น คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับประชาชน แบบประเมินอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่น 3) ห้องปลอดฝุ่น แผนที่สถานบริการสาธารณสุขที่สามารถค้นหาเส้นทางการไปใช้บริการได้ และ 4) สาระความรู้เกี่ยวกับฝุ่นและสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้น และวางแผนกิจกรรมประจำวันได้ ทั้งนี้ Application ‘Life Dee’ จะแจ้งเตือนเมื่อฝุ่น PM2.5 มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามค่ามาตรฐานใหม่ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านทางมือถือและ Smart watch ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA กับ กรมอนามัย ได้บูรณาการงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการวิจัย พัฒนา และการบริการด้านสาธารณสุขเชิงพื้นที่ รวมถึงร่วมกันผลักดัน และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของกรมอนามัยในด้านต่าง ๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนวัตกรรมและองค์ความรู้ ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งสองฝ่ายในด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและด้านสาธารณสุขอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือกันในวันนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ

ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนเมือง การพัฒนา Application ‘Life Dee’ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนไทยสามารถตรวจเช็กสุขภาพของตนเอง ค้นหาสถานบริการสุขภาพ ข้อมูลปริมาณฝุ่นในอากาศ ตลอดจนแผนที่แสดงแบบจำลองสถานการณ์ฝุ่นภายใต้ภูมิอากาศจุลภาค (microclimate) ทั้งนี้ กรมอนามัยสามารถนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนได้อีกด้วย และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับข้อมูลด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป