medicalfocusth

รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี แนะอาหารปั่นผสมและอาหารสำเร็จรูปเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ประโยชน์เหมือนกันแต่มีดีที่แตกต่าง
รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี แนะอาหารปั่นผสมและอาหารสำเร็จรูปเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง  ประโยชน์เหมือนกันแต่มีดีที่แตกต่าง
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี เปิดเผยว่าในภาวะที่ร่างกายขาดพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นจากโรคหรือภาวะต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามความต้องการอย่างเหมาะสมก็คือ “อาหารทางการแพทย์”

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขมาเป็นเวลานาน ในการปรับตัวหลังจากรับการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งบางรายอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ แต่ระบบทางเดินอาหารยังทำงานได้ปกติ เช่น มีภาวะกลืนลำบาก สำลักอาหาร จำเป็นต้องได้รับอาหารทางสายให้อาหารเพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอกับความต้องการ ป้องกันการขาดสารอาหาร ลดอาการแทรกซ้อน ซึ่งอาหารทางการแพทย์ (medical food) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใช่ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยมีการใช้เป็นโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ไม่สามารถกินอาหารปกติได้อย่างเพียงพอ โดยอาจอยู่ในรูปแบบที่ใช้กินหรือดื่มแทนอาหารมื้อหลัก ดื่มเพื่อเสริมอาหารบางมื้อ หรือใช้เป็นอาหารทางสายยาง (tube feeding)

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยมะเร็ง สามารถใช้อาหารทางการแพทย์ผ่านทางสายให้อาหาร หรือดื่มเสริมทางปาก เพื่อเพิ่มพลังงานและสารอาหารให้กับร่างกาย ซึ่งอาหารทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) อาหารสำเร็จรูป (Commercial Formula) ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มีลักษณะเป็นผงนำมาละลายน้ำ และแบบน้ำ มีความสะดวกต่อการใช้งาน ปัจจุบันมีให้เลือกหลายสูตรตามสภาวะโรคและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย 2) อาหารปั่นผสม (Blenderized Diet) โดยเป็นการนำอาหารที่เตรียมจากอาหาร 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการพลังงานและสารอาหารของผู้ป่วย มาทำให้สุกจากนั้นจึงทำการปั่นผสมรวมกันเป็นเนื้อเดียว แต่ในอาหารสูตรนี้จะมีใยอาหารน้อยเนื่องจากต้องกรองหลายครั้ง ใช้เวลาในการเตรียมนานกว่าและเสี่ยงต่อการปนเปื้อน

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อพิจารณาในการเสริมวิตามินและแร่ธาตุเพื่อให้เพียงพอสำหรับความต้องการในแต่ละวัน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่สามารถเคี้ยวอาหารและกลืนอาหารได้ดี การรับประทานอาหารจากธรรมชาติที่มีคุณภาพดีจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ และช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 02 546 1960-6 ต่อ 1411