medicalfocusth
ม.มหิดลลงชุมชน เสนอรูปลักษณ์ใหม่ของยาปฏิชีวนะ เพื่อชีวิตห่างไกลจากเชื้อดื้อยา
×
สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยาหรือกล่องยา รวมทั้งคำอธิบายการใช้ยาที่มีความชัดเจน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้ยา ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาใดๆ ที่เสนอการระบุรูปลักษณ์เฉพาะเพื่อให้เกิดการใช้ "ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล"
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัย "การประเมินการระบุรูปลักษณ์ของยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทาน ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ยาปฏิชีวนะของชุมชนอย่างเหมาะสม ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง"
ทำการศึกษาใน 6 ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแบ่งตามระดับรายได้ของประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ และโมซัมบิก (รายได้ต่ำ) กานา และ เวียดนาม (รายได้ปานกลางระดับต่ำ) แอฟริกาใต้ และไทย (รายได้ปานกลางระดับสูง) ระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2566 ภายใต้การสนับสนุนจาก The Wellcome Trust สหราชอาณาจักร โดยมี Prof.Dr.Heiman Wertheim จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัย Radboud ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นนักวิจัยหลัก
ข้อความที่ปรากฏบนซองยาสำคัญอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพผู้ใช้ยา น่าตกใจเมื่อพบว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดๆ ในโลก จัดทำ "สัญลักษณ์พิเศษ" บนซองยา เพื่อระบุว่าเป็น "ยาปฏิชีวนะที่พึงใช้ด้วยความระมัดระวัง"
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทความของโครงการที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ "Lancet" Top 1% ของโลก
https://www.thelancet.com/journals/langlo/article/PIIS2214-109X(23)00258-9/fulltext
ที่ให้มุมมองถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ยา ผู้จ่ายยา/ขายยา และบุคลากรด้านสาธารณสุข หากมีการระบุรูปลักษณ์ของยาปฏิชีวนะให้แตกต่างจากยาชนิดรับประทานประเภทอื่นๆ
ปัจจุบัน มีการเรียกชื่อเพื่ออ้างถึงยาปฏิชีวนะอย่างหลากหลาย โดยที่ชื่อเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ภายนอกของยา เช่น แคปซูล สีดำ-แดง ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกนี้ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารระหว่างผู้ใช้ยา และผู้ดูแลสุขภาพ ทั้งในการจ่ายยา และการใช้ยาที่เหมาะสม
ก่อนเริ่มการลงพื้นที่ โครงการฯ ได้จัดเวทีหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากองค์กรในระดับโลก ภูมิภาคและประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์กรเอกชนระดับโลก สำนักงานอาหารและยา เพื่อเป็นแนวทางในการวิจัย เรื่องการใช้รูปลักษณ์ภายนอกเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และเกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงชุมชนของโครงการกาญจนบุรี เพื่อประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับการระบุรูปลักษณ์ใหม่ของยาปฏิชีวนะ ด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม กับผู้ใช้ยาในชุมชน และสัมภาษณ์ระดับลึกกับผู้จ่ายยาและขายยา ซึ่งได้แก่ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากตัวอย่างจำนวน 100 ราย
ผู้ใช้ยา ผู้จ่ายยาและบุคลากรด้านสาธารณสุข ส่วนใหญ่เห็นด้วย หากจะมีการระบุ สัญลักษณ์ เช่น "AB" บนเม็ดยา แผงยา หรือกล่องยา เพราะจะทำให้จำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะช่วยระบุ และจำแนกยาปฏิชีวนะออกจากยากลุ่มอื่นๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งผู้จ่ายยา และผู้ใช้ยาในชุมชนกล่าวว่า การจำแนกยาปฏิชีวนะให้มีความชัดเจนนี้ อาจจะลดแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะลง หากผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบ และเหตุผลในการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ใช้ยา ยังมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เกี่ยวกับการอักเสบและการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด หรือมีใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่เชื้อดื้อยา
นักวิจัยเสนอว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการให้ความรู้สำหรับประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "การอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย" "การอักเสบจากการติดเชื้ออื่นๆ" และ "การอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ"
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานฯ เพราะ "สิ่งมีชีวิต" ต้องอยู่คู่ "การคิดด้วยเหตุและผล" มนุษย์ทุกคนจึงจำเป็นต้อง "ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล" ซึ่งรวมไปถึง "การใช้ยาอย่างสมเหตุผล" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ยาปฏิชีวนะ" ที่ยิ่งใช้อย่างมีเหตุผล ยิ่งทำให้ชีวิตปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา "เพียงฉุกคิดสักนิด ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ"
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่
www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210