medicalfocusth

สปสช. หนุน Quick win 100 วัน “มะเร็งครบวงจร” จัดสิทธิประโยชน์พร้อมรุก “บริการมะเร็งปากมดลูก”
สปสช. หนุน Quick win 100 วัน “มะเร็งครบวงจร”  จัดสิทธิประโยชน์พร้อมรุก “บริการมะเร็งปากมดลูก”
สปสช. หนุน Quick win 100 วัน “มะเร็งครบวงจร” เดินหน้าสิทธิประโยชน์ “โรคมะเร็งปากมดลูก” ครอบคลุมทั้งการป้องกัน ตรวจคัดกรอง และรักษา เผยปี 2567 สปสช.จัดสรรงบบัตรทองซื้อวัคซีนเอชพีวีเพิ่มกว่า 717 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมในระบบมีวัคซีนฯ กว่า 1.9 ล้านโดส เพื่อสนับสนุนนโยบาย “ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส” นี้ พร้อมขยายเครือข่ายบริการตรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก กระจายชุดเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง เชื่อมโยงเครือข่ายรักษาผู้ป่วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ““มะเร็งครบวงจร และการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) จำนวน 1 ล้านโดส ในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี” เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win 100 วัน ที่ต้องเร่งดำเนินการแบบครบวงจร ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ ‘Super Board สาธารณสุข’ ให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อน โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก เนื่องด้วยเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิงไทยที่อายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้จากการรับเชื้อ HPV ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 โดยเมื่อติดเชื้อแล้วจะไม่มีอาการ กว่าจะรู้ตัวใช้เวลาหลายปีและได้เข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว

ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบาย สปสช.จึงได้ร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย และได้ลงนามประกาศความร่วมมือวันที่ 25 ต.ค. 66 เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เป็นไปตามเป้าหมาย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากนโยบายมะเร็งครบวงจรนี้ สปสช. จะเร่งสนับสนุนการจัดบริการมะเร็งปากมดลูก ภายใต้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วย บริการวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรค ตามนโยบายจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ ซึ่งการฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือในผู้หญิง อายุ 9-26ปี จะป้องกันการติดเชื้อได้มากถึงร้อยละ 90 ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10 -20 ปีข้างหน้าได้ โดย สปสช. ได้กำหนดเป้าหมาย Quick win สนับสนุนการฉีดวัคซีนเอชพีวี 1 ล้านโดส ใน 100 วันแรก ให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นอุดมศึกษาปีที่ 2 (หรืออายุ 11-20 ปี) ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเน้นการให้บริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดก่อน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นฉีดให้กับกลุ่มอายุ 15 –20 ปี จะเป็นการฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งต้องผู้ที่ได้รับเข็ม 1 แล้วเกิน 6 เดือน (ตามคำแนะนำของ ACIP : Advisory Committee on Immunization Practices) โดย สปสช. จะจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย และพิจารณาจัดหาวัคซีนเอชพีวีเข็มที่ 2 เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างถูกต้องตามคำแนะนำทางวิชาการและสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดย สปสช. ได้เพิ่มเติมงบประมาณปี 2567 อีก 717.63 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวัคซีนเอชพีวีเพิ่มรวมเป็นจำนวน 1,747,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดจัดซื้อเพียง 703,700 โดส และเมื่อรวมกับวัคซีนเอชพีวีกับส่วนอื่นๆ ทำให้มีวัคซีนเอชพีวีในระบบราว 1,900,000 โดส ในการเดินหน้านโยบายนี้

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช. ได้เร่งสนับสนุนการบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระยะเริ่มแรก โดยมีกลุ่มเป้าหมายบริการ คือหญิงไทย อายุ 30 –59 ปี ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล และหญิงไทย อายุ 15 –29 ปี กรณีที่มีความเสี่ยงสูง ให้บริการตรวคัดกรองด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทส (HPV DNA Test) 1 ครั้ง ทุกๆ 5 ปี โดยเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่สามารถให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก สปสช. ยังได้เพิ่มบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self Sampling ที่เป็นชุดเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเองเพื่อนำส่งตรวจที่หน่วยบริการ ที่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับหญิงไทยที่มีความรู้สึกอายที่จะรับบริการที่หน่วยบริการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้บรรลุผลตาม Quick win 100 วันโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยบริการภาครัฐและเอกชนออกหน่วยให้บริการเชิงรุกในสถานประกอบการแล้ว

นอกจากนี้ สปสช. ได้สนับสนุนการจัดบริการโดยหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการ HPV DNA Test ในรูปแบบ Center Lab) ที่มีเครือข่ายบริการที่หน่วยบริการเก็บตัวอย่าง หรือหน่วยบริการนวัตกรรม อาทิ ร้านยาและคลินิกการพยาบาลในการกระจายชุดตรวจ พร้อมมีเครือข่ายระบบจัดส่ง (Logistic) เพื่อนำ เพื่อให้สามารถดำเนินการบริการตรวจคัดกรอง ประสานการส่งตอได้อย่างครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายพื้นที่ดำเนินการแล้ว เช่นที่เขต 7 ขอนแก่น ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีโรงพยาบาลพนมไพรเป็นแม่ข่ายบริการห้องปฏิบัติการตรวจ และที่เขต 9 นครราชสีมา โดยโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาที่ได้ออกหน่วยตรวจเชิงที่สถานประกอบการ เป็นต้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ภายหลังการตรวจคัดกรองมะเร็งปาดมดลูก ในกรณีผลการตรวจพบว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ก็สามารถเข้าสู่การรักษาพยาบาลตามสิทธิได้ โดยในส่วนของผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบได้ เบื้องต้นอาจเริ่มเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อน หากเกินศักยภาพของหน่วยบริการที่จะดูแล หรือมีคิวผู้ป่วยที่รอบริการจำนวนมาก ก็สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการเฉพาะด้านโรคมะเร็ง หรือหน่วยบริการที่มีศักยภาพด้านการรักษามะเร็งทั่วประเทศในระบบบัตรทองได้ ตามนโยบายโรคมะเร็งไปที่ไหนก็ได้ (Cancer Anywhere) ที่ได้ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยครอบคลุมทั้งหน่วยบริการเคมีบำบัด หน่วยบริการรังสีรักษา และหน่วยบริการผ่าตัดรักษา เป็นต้น