medicalfocusth

ครั้งแรกในไทย ม.มหิดลคิดค้นนวัตกรรมตรวจหาไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวด้วย AI ครอบคลุม 34 ชนิด
ครั้งแรกในไทย ม.มหิดลคิดค้นนวัตกรรมตรวจหาไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวด้วย AI ครอบคลุม 34 ชนิด
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นสถาบันโรคเขตร้อนชั้นนำระดับนานาชาติ ที่สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมตรวจหาไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ครอบคลุมมากที่สุด ถึง 34 ชนิด ด้วยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อการต่อยอดวิจัยค้นคว้า

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ดร วัฒนกุลพานิชย์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลงานวิจัยล่าสุด "นวัตกรรมตรวจหาไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)" ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)

โดยทำให้คนไทยและทั่วโลก ได้มีชุดฐานข้อมูลภาพไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวที่สามารถสืบค้นได้มากถึง 34 ชนิด ซึ่งครอบคลุมไข่หนอนพยาธิที่พบบ่อยมากที่สุด อาทิ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืด รวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในคนไทยที่มีพฤติกรรมรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ

ความท้าทายในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานอยู่ที่การสอดประสานการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตหนอนพยาธิและโรคเขตร้อน และวิศวกรในทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะต้องเตรียมภาพตัวอย่างไข่หนอนพยาธิและซีสต์โปรโตซัวชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 500 ภาพในแต่ละชนิด เพื่อป้อน AI ให้เกิดการเรียนรู้ผ่านเทคนิคการขยายข้อมูล

ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนข้อมูลภาพให้มีจำนวนมากขึ้นหลายๆ เท่าจากข้อมูลเดิมเพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้ฝึกโปรแกรม CiRa CORE ของ AI ให้มีขีดความสามารถในการตรวจหาผลิตผลของเชื้อพยาธิปรสิตในอุจจาระได้อย่างถูกต้อง มีความแม่นยำสูง ซึ่งมักใช้ในการขยายข้อมูลเข้าช่วยเพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอต่อความต้องการ

ในการศึกษานี้ได้ใช้เทคนิค 4 แบบในการสังเคราะห์รูปภาพ (Augmentation) ได้แก่ การหมุนรูปภาพเดิม (Rotation) เปลี่ยนสภาพแสงในภาพ (Contrast) ปรับความชัดของภาพ (Blur) นอกจากนี้ ยังใช้เทคนิคในการใส่การรบกวนไปในภาพ (Noise)

ดังนั้น ภาพหนึ่งภาพสามารถสร้างเป็นข้อมูลภาพที่แตกต่างกันหลายๆ ภาพ เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการขยายข้อมูล รวมเข้ากับข้อมูลภาพชุดเดิมที่มีไปใช้ในการฝึกสอน ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าการขยายข้อมูลภาพ ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้เชิงลึกอย่างมาก ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์มีความชาญฉลาดในการจัดการกับภาพที่ได้เจอในหลายรูปแบบ และสามารถจำแนกแยกแยะวัตถุเป้าหมายได้ด้วย

ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตหนอนพยาธิและโรคเขตร้อน รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ดร วัฒนกุลพานิชย์ ได้กล่าวฝากเตือนทิ้งท้ายให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ พึงระวังการปนเปื้อนไข่พยาธิและตัวอ่อน บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการผิดปกติที่ยากต่อการหาข้อสรุป แต่ในที่สุดมักได้รับคำตอบด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อปรสิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล ที่หลายคนมักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ความเค็มจากน้ำทะเลจะทำให้เชื้อโรคและปรสิตอยู่ไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุก และรับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ อาจติดเชื้อ "พยาธิอะนิซาคิส" (Anisakis spp.) ที่ทำให้เกิดอาหารปวดท้องจากการไชเคลื่อนที่ของตัวพยาธิคล้ายอาการของกระเพาะอาหารอักเสบ

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงพยาบาลเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานฯ ให้บริการตรวจรักษา ตลอดจนให้คำปรึกษา ที่ครบวงจร ในวัน และเวลาราชการ นัดหมายออนไลน์ได้ที่ www.tm.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210