medicalfocusth

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ - นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หวังประชาชนกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมในทุกช่วงวัย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต จากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ - นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หวังประชาชนกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมในทุกช่วงวัย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต จากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
เนื่องในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก” (World Immunization Day) หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน อาทิ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และกรมควบคุมโรค ต่างให้ความสำคัญเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และต่างร่วมมือร่วมใจผนึกกำลังในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเพิ่มความครอบคลุมการฉีดวัคซีน เพื่อเป้าหมายสูงสุดของทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี และได้รับการป้องกันโรคที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

รศ.นพ. สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ด้วยนโยบายตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย โดยการฉีดวัคซีนสำหรับการป้องกันควบคุมโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และในกลุ่มผู้ใหญ่ เพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้กลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์เพื่อการป้องกันโรค ลดการป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ จึงส่งผลต่อการให้บริการด้านวัคซีน โดยพบข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในประเทศไทยมีอัตราครอบคลุมการให้บริการฉีดวัคซีนในปี 2564 – 2565 ภาพรวมของการได้รับวัคซีนแต่ละชนิดส่วนใหญ่ลดลงกว่าเป้าหมายที่กำหนด และเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้สร้างความร่วมมือเพื่อเร่งรัดการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถป้องกันการระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน”

“ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน หรือ immunization ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของประชากรในทุกช่วงวัย ในขณะที่มีการเกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ร่างกายของเราก็มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แต่ก็มีเชื้อโรคบางชนิดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในการป้องกัน หรือต่อสู้กับโรคนั้น ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และรุนแรงอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ และสตรีมีครรภ์ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มีภูมิคุ้มกันต่ำลงจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ทารกในครรภ์ก็จะสามารถได้รับภูมิคุ้มกันที่มารดาสร้างขึ้นโดยส่งผ่านทางรก ทำให้ได้รับการปกป้องไปจนกระทั่งหลังคลอดก่อนที่ทารกจะได้รับวัคซีนตามช่วงวัย ปัจจุบันมีวัคซีนอยู่หลายชนิดด้วยกันซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับเพื่อสุขภาพ และความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย แต่วัคซีนที่จะให้ในสตรีตั้งครรภ์ต้องมีความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ และสตรีวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับคำแนะนำการได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงสุด”

“จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมเพิ่มขึ้นทั้งภาวะครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ และมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้า ICU เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และโอกาสที่อาการหนักจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้นถึง 2.6-2.9 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 40 ปี, อ้วน, มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิตได้ 1.5-8 คนใน 1,000 คน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงมีประโยชน์มากในการสร้างภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสการเสียชีวิต จึงแนะนำให้ฉีดในคุณแม่ทุกคนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยกเว้นกรณีที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน”

“สำหรับโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดอ่อนแรงลง และกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น แต่สิ่งที่สามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อกระตุ้นภูมิ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงของโรค แต่อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เสมอไป นอกจากนี้การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โควิด-19 อย่างเคร่งครัดก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี และได้รับการป้องกันที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต” รศ.นพ. สุรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย