medicalfocusth
กรมการแพทย์เตือนโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาผิดวิธี อาจจะทำให้อาการรุนแรง เสี่ยงต่ออัมพาตหรือภาวะทุพลภาพรุนแรง
×
กรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนที่มีอาการจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ปวดคอร้าวไปแขน มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยของคนยุคปัจจุบัน แม้ในรายที่ยังเป็นไม่มาก อาการก็อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังจากอุบัติเหตุหรือการเคลื่อนไหวผิดธรรมชาติ เช่น การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง การก้มหยิบของหนัก การออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป หรือเกิดในช่วงวัยสูงอายุเนื่องจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก อาการมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณคอและเอว เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด มีผลทำให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางตำแหน่ง เคลื่อนหลุดออกมากดทับเส้นประสาทหรือแม้แต่ไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงหรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอร้าวไปตามแขน หรือมือ ตรงตำแหน่งเส้นประสาทที่ถูกกด ในรายที่มีอาการรุนแรง จะส่งผลให้แขนหรือมืออ่อนแรงได้ และอีกกลุ่มคืออาการของการกดไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาอ่อนแรง เดินลำบาก ขาตึง ชาตามลำตัวและลามไปที่ขาทั้งสองข้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง ส่วนอาการปวดคอหรือเอว อาจจะมีร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การตรวจวินิจฉัยและรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และส่งตรวจด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เกือบทุกรายโดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดโดยการประเมินร่วมกันระหว่างแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด เพราะนอกจากการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องรับคำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเจ็บปวด ลดการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังอีกด้วย ในปัจจุบันวิทยาการในการรักษาพัฒนาไปมาก มีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมียังมีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุเลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูก ช่วยให้ขยับ ก้ม เงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ ปัจจุบันอาจจะมีวิธีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ทั้งที่เป็นการรักษาทางเลือกทั่ว ๆ ไป และการโฆษณาชวนเชื่อ ผู้ป่วยที่มีอาการและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วและอยู่ระหว่างการรักษา ควรใช้วิจารณญาณและสติพิจารณาตามหลักเหตุผล ก่อนเลือกใช้บริการรักษาแขนงอื่น ๆ เพราะหากเลือกรับบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากโรคจะไม่หายแล้ว ยังอาจจะทำให้การกดทับของเส้นประสาท หรือการกดทับของไขสันหลังเป็นมากขึ้น อันอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงจนถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือทุพลภาพได้
#สถาบันประสาทวิทยา #กรมการแพทย์ #กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท