medicalfocusth

ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน  โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2566 ได้แก่
1.นายคณิน หอศิริพร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นายคณิน หอศิริพร นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการ “การใช้แอปพลิเคชั่นโดยอาศัยหลักคำแนะนำสุขภาพจำเพาะบุคคลและทฤษฎีนัดจ์ (Nudge Theory) เพื่อช่วยเสริมสร้างการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยในประเทศไทย”

เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนทั่วโลกทำให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ต้องพึ่งพายาหลายชนิดและสุดท้ายมักจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลที่ต้องการได้ ท้ายที่สุดจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ดี แต่มีผู้ป่วยเพียง 2ð เปอร์เซ็นต์ที่สามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพได้สำเร็จ ถึงแม้การปรับพฤติกรรมจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้สำเร็จ นายคณิน จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น โดยอาศัยหลักคำแนะนำสุขภาพเฉพาะเจาะจงบุคคล (Personalised lifestyle modification) ผสานรวมกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Nudge Theory) และคาดหวังว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิต ตลอดจนสุขภาวะที่ดีขึ้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยในประเทศไทย

2.นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการ “การบริหารสุขภาพโลกผ่านการศึกษานโยบาย Triple Billion Targets ขององค์การอนามัยโลก”

นางสาวณัฐณิชา มีความสนใจในระบบสุขภาพโลกหรือ Global Health เนื่องจากเห็นความสำคัญในการใช้ความรู้ส่วนนี้แก้ปัญหาสุขภาพที่ประเทศไทยแก้ด้วยตนเองไม่ได้ หากแต่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การระบาดของโควิด-19 หรือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคที่ส่งผลต่อสุขภาพ จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว โดยวางแผนศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตส์เซอร์แลนด์ เพื่อเรียนรู้ระบบการบริหารงานของ Global Health ในเชิงลึก ซึ่งระบบบริหารงานนี้เป็นคลื่นใต้น้ำที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ โดยภายหลังจากการศึกษาดูงานแล้ว นางสาวณัฐณิชา มีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องเผยแพร่ความรู้เชิงลึกที่ตนได้เรียนมาเกี่ยวกับกลไกต่างๆ รวมถึงจะวิเคราะห์ศักยภาพประเทศไทยจากในมุมของตนเองไปทำงานที่องค์การอนามัยโลกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแนวหน้าด้าน Global health ในเวทีโลก ซึ่งจะนำมาซึ่งอำนาจเชิงการต่อรองที่มากขึ้น ทำให้มีนโยบายจากองค์การอนามัยโลกที่เอื้อต่อสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ มากขึ้น

3.นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอโครงการ “การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรหมู่มาก โดยใช้วิธีการจัดการรูปแบบใหม่”

เนื่องด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่ยังก่ออัตราการเสียชีวิตที่สูง ด้วยข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองในประชากรหมู่มาก ทั้งด้านทรัพยากร การเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนเครื่องมือในการตรวจคัดกรอง นางสาวพีณประภา มีความสนใจในการพัฒนาแบบแผนคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างเป็นลำดับขั้นตอน (sequential screening) ผ่านการพัฒนาเครื่องมือใหม่ 2 ชนิด คือ ระบบคะแนนประเมินความเสี่ยง (risk scoring algorithm) จากฐานข้อมูลของประชากรไทย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง และการกลืนกล้องแคปซูลตรวจพยาธิสภาพในลำไส้ใหญ่ (colon capsule endoscopy) โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (deep learning) ในการอ่านผล เพื่อแก้ปัญหาความร่วมมือ และความขาดแคลนของทรัพยากร โดยคาดหวังว่าแบบแผนที่พัฒนาขึ้นจะช่วยลดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิต ตลอดจนทำให้การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยและประชาคมโลกมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นไป

4.นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการ “งานวิจัย Cohort เรื่อง การทดสอบยาและการดื้อยา ในโมเดลที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ในโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative”

เนื่องด้วยในปัจจุบัน มะเร็งนับเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขระดับต้นๆ โดยมะเร็งเต้านมนับเป็นมะเร็งที่มีพบได้มากที่สุดในผู้หญิงทั้งในระดับประเทศไทยและระดับสากล และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ในบรรดามะเร็งเต้านมทั้งหมด มะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-Negative นับเป็นมะเร็งเต้านมที่มีพยากรณ์โรคที่ไม่ดีที่สุด อัตราการแพร่กระจายสูงที่สุด พบได้มากในผู้ป่วยอายุน้อย รวมทั้งยังมีข้อจำกัดด้านการรักษา ทำให้การแพทย์แบบแม่นยำเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งกลุ่ม Triple-negative มากขึ้น ทั้งนี้ นายศุภกฤต มีความสนใจในการทดลองหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative โดยนำโมเดลที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ มาเพื่อทดสอบกับยาชนิดต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรม และคาดหวังว่าจะค้นพบการรักษาโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยต่อไป


5.นายสุวินัย จิระบุญศรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสุวินัย จิระบุญศรี นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอโครงการ “การใช้เทคโนโลยีการสร้างอวัยวะจำลองเพื่อศึกษากลไกการก่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จากฝุ่นมลภาวะ PM 2.5”

เนื่องด้วยในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบกับชาวไทยทุกคน โดยมลภาวะชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้ เช่น มะเร็งปอด และมีผลการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีข้อมูลความสัมพันธ์ที่ชัดเจนในกลุ่มคนไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาในเชิงประจักษ์ถึงกลไกการก่อโรคของฝุ่น PM 2.5 ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ นายสุวินัย เป็นผู้ที่มีความสนใจศึกษากลไกการเกิดโรคมะเร็งโดยการใช้เทคโนโลยีอวัยวะจำลอง (Organoid) ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงเซลล์ให้มีลักษณะคล้ายกับในร่างกายมนุษย์ จึงมีความแม่นยำสูงในการจำลองและศึกษากระบวนการเกิดโรค องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดนโยบาย และการวิจัยต่อยอดเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อันจะมีผลในการพัฒนาสาธารณสุขและสุขภาพคนไทยต่อไป


ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 13 คน จากสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ 6 แห่ง โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 คน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย