medicalfocusth

ม.มหิดลเปิดศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเขตร้อนครบวงจรครั้งแรก
ม.มหิดลเปิดศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเขตร้อนครบวงจรครั้งแรก
นับเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่ดูแลสุขภาวะโรคเขตร้อน พร้อมให้ความมั่นใจในบริการที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

รองศาสตราจารย์ ดร.หวัง หงุ่ยตระกูล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ดำเนินการโดยได้มีการเชื่อมโยงสู่ระดับโลก

จากการวางภารกิจให้บริการตรวจเชื้อโรคเขตร้อนที่ครอบคลุม โดยรวมถึง "โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย" เช่น "เมลิออยโดสิส" หรือ "โรคไข้ดิน" ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขโลก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้พัฒนา "ชุดตรวจ" จนแล้วเสร็จ ส่งผลให้ปัจจุบันในประเทศไทยมีชุดตรวจโรคไข้ดินใช้ในโรงพยาบาลอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนดูแลกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมโยงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่คอยกำกับดูแลโรคเขตร้อนที่มีผลกระทบสูง เช่น โรคมาลาเรีย ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจถึง ระดับยีน เพื่อความแม่นยำสูง

ปัจจัยเด่นที่ทำให้ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาได้อย่างครบวงจร เนื่องจากมีความพร้อมด้วยบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี และกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนที่ทำหน้าที่อาสาสมัคร

ยังมีโรคเขตร้อนอีกมากมายที่อยู่ระหว่างการพัฒนา "ชุดตรวจ" ภายใต้ศักยภาพในระดับนานาชาติ โดยยึดมั่นในปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่พร้อมประยุกต์องค์ความรู้เพื่อการดูแลสุขภาวะของประชาชน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยโรคเขตร้อนว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th