medicalfocusth

ม.มหิดลเผย 'ทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก' ช่วยลดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมในเด็ก
ม.มหิดลเผย 'ทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก' ช่วยลดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมในเด็ก
การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหาอารมณ์และปัญหาพฤติกรรมในเด็ก ครอบครัว คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองควรมี เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว สร้างบรรยากาศแห่งความอบอุ่น เข้าใจซึ่งกันและกัน ลดต้นเหตุแห่งปัญหาที่อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติในอนาคต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล ที่ปรึกษาสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า "ปัญหาอารมณ์และปัญหาพฤติกรรมในเด็กจิตสังคม" ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาด "ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวก" ของผู้ปกครอง

จึงได้ริเริ่มเปิดคอร์สอบรมผู้ปกครองให้มีทักษะในการปรับพฤติกรรมเด็ก หรือ Parent Management Training (PMT) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากเป็นผู้ปกครองที่ดี อยากเลี้ยงเด็กให้มีความสุข และเป็นคนดีของสังคม หากผู้ปกครองเข้าใจ และมีทักษะเชิงบวกในการปรับพฤติกรรมเด็ก ก็คงไม่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรง และสร้างบาดแผลในใจเด็ก

คอร์ส PMT ได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็น PMT - Siriraj Model ซึ่งนอกเหนือจากเป็นงานบริการสำหรับผู้ปกครอง คอร์ส PMT ยังถูกใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น รวมถึงใช้ในงานวิจัยต่างๆ
โดยงานวิจัยที่โดดเด่น ได้แก่ A comparative study of psychosocial interventions for internet gaming disorder among adolescents aged 13 - 17 years ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 ในวารสาร International Journal of Mental Health and Addiction (impact factor = 8.0)

งานวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิผลของ PMT กับค่ายบำบัดสำหรับเด็กที่มีปัญหาติดเกม ซึ่งพบว่า ผู้ปกครองที่เข้าคอร์ส PMT สามารถพัฒนาทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกของตน และลดปัญหาติดเกมของลูกหลานได้

ด้วยความตั้งใจที่จะเผยแพร่ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกไปสู่ผู้ปกครองในวงกว้าง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล และทีม ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการพัฒนาคอร์ส PMT แบบดั้งเดิมที่อบรมผู้ปกครองแบบพบหน้า ไปสู่คอร์ส PMT แบบออนไลน์ (Internet-based Parent Management: Net PAMA) ผ่านเว็บไซต์เน็ตป๊าม้า www.netpama.com

ทำให้ภายในระยะเวลา 2 ปีที่เว็บไซต์เน็ตป๊าม้าได้เปิดตัว ผู้ปกครองจำนวนกว่า 20,000 รายทั่วประเทศได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูเชิงบวก ช่วยลดปัญหาอารมณ์ และปัญหาพฤติกรรมในเด็กได้เป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้ปกครองเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องพาลูกมาปรึกษาจิตแพทย์เด็กที่โรงพยาบาล เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มาก

ด้วยความมีประสิทธิผลและความเป็นนวัตกรรม ทำให้เน็ตป๊าม้าได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2565 (Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2022) และรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประจำปี 2566 ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ โดยหนังสือ “โรคสมาธิสั้น” ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล และคณะได้ร่วมกันเขียน

ได้รับรางวัลระดับคณะ ระดับมหาวิทยาลัย และระดับชาติรวมทั้งสิ้น 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลตำราศิริราช รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา รางวัลชนะเลิศ DMSc Award จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และรางวัลผลงานทางวิชาการดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ TTF Award จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย

จากการทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน การทำงานวิจัยและเขียนหนังสือที่มีคุณภาพ และการสร้างสรรค์งานนวัตกรรม ทำให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล ได้รับการยกย่องในฐานะ "อาจารย์ตัวอย่าง" ของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2566 ที่จะเข้ารับรางวัลเนื่องใน 55 ปีวันพระราชทานนาม 136 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 2 มีนาคม 2567
ในการเลี้ยงลูก หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ควรทำสิ่งนั้นให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ในการสอนนักศึกษา หากต้องการให้นักศึกษาเป็นอย่างไร อาจารย์ก็ควรปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษาเช่นเดียวกัน

มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยพลังจากอาจารย์แพทย์ที่ดี จะทำให้ได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

และที่สำคัญ การมีสุขภาพจิตที่ดี จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th