medicalfocusth

กรมสุขภาพจิต เผย 5 เทคนิคเพื่อนแท้ดูแลใจ เพื่อห่างไกลภาวะซึมเศร้าหลังเทศกาลปีใหม่ 2567 (New Year’s Blues)
กรมสุขภาพจิต เผย 5 เทคนิคเพื่อนแท้ดูแลใจ เพื่อห่างไกลภาวะซึมเศร้าหลังเทศกาลปีใหม่ 2567 (New Year’s Blues)
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยภาวะซึมเศร้าของประชาชน หลังเทศกาลปีใหม่ 2567 (New Year’s Blues) พร้อมแนะนำ 5 เทคนิค และบริการทางด้านสุขภาพจิตเพื่อเป็นเพื่อนแท้ดูแลใจเพื่อห่างไกลซึมเศร้า

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะ “New Year’s Blues” หรือ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ แม้ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางจิตเวช แต่เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้น กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะแม้คนส่วนใหญ่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่เทศกาลรื่นเริง แต่คนจำนวนหนึ่งจะเริ่มทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลอดปีที่ผ่านมา หรือได้รับฟังข่าวสารที่มีการสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาและเกิดความผิดหวัง กังวล ระลึกถึงอุปสรรคปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสุขภาพกาย ปัญหาจากการทำงาน และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น หลายคนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามสิ่งที่ตนเองเคยคาดหวังและวางแผนไว้ ก่อให้เกิดความรู้สึกล้มเหลว ความทรงจำด้านลบ การสูญเสีย และความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง เกิดความเครียดเรื้อรังสะสมหรือซึมเศร้าขึ้นได้ นอกจากนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม อาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มยิ่งขึ้นได้ในช่วงนี้ เช่น คนที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่เดิมอาจมีอาการเศร้ารุนแรงมากขึ้นตามมา

นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงปีใหม่นี้หากพบว่าภาวะซึมเศร้า กรมสุขภาพจิตขอแนะนำ 5 เทคนิคเพื่อนแท้ดูแลใจเพื่อห่างไกลซึมเศร้า ดังนี้ 1. หมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้าง ทั้งในระหว่างช่วงหยุดยาวและหลังหยุดยาวยาวด้วยการประเมินตัวเองผ่าน www.วัดใจ.com 2. มองเห็นคุณค่าของตนและสิ่งดีในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเรียนรู้ หรือการทบทวนเพื่อสร้างพลังใจให้กับตนเอง เพราะถือว่าการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าต่อปัญหาและอุปสรรคในอนาคต 3. แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นในช่วงเวลาเวลาที่ยากลำบาก หรือแบ่งปันช่วงเวลาดีดีเพื่อสร้างความสุขให้แก่กัน 4. ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวหรือคนสนิท ซึ่งหากไม่สามารถเดินทางไปพบเจอกันได้ก็สามารถใช้วิธีการทางออนไลน์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพิ่มเติม และ 5. หากรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในภาวะ New Year’s Blues ไม่ตัดสินหรือเลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยการดื่มสุราหรือใช้สารเสพติด ให้พูดคุยกับผู้อื่น หรือสามารถขอรับบริการทางด้านสุขภาพจิตผ่านทางสายด่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง

อย่างไรก็ตามหากรู้สึกว่าตนเองอาจมีภาวะ New Year’s Blues สามารถเริ่มปรึกษาพูดคุยกับใครสักคน เช่น คนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว รวมถึงสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ LINE@1323forthai, sati App หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป