medicalfocusth

ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง
 ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565” พร้อม ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท และ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมจุฬาภรณ์ ชั้น 2 ตึกสยามินทร์ รพ.ศิริราช

สำหรับแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประจำปี 2565

รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 เพื่อเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบท ให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมในชนบท รางวัลนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยที่แพทย์ผู้รับรางวัลจะได้รับเกียรติให้แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แด่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านเป็น “ครูแพทย์” ที่สำคัญของศิริราช ที่มีความรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งในวิทยาการหลายสาขา เป็นผู้ที่เอาใจใส่ ดูแล สนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานของแพทย์ไทยในชนบทอย่างดีตลอดมา แม้ว่าท่านจะครบเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังไปเยี่ยมเยียน เป็นกำลังใจ และเป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ที่ทำงานในชนบท โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ทักษะในการทำผ่าตัดต่าง ๆ ต่อมาเป็นเวลาหลายปี นามของท่านจึงสมควรปรากฏเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่บุคคลรุ่นหลังสืบไป โดยบรรดาศิษย์และญาติมิตรของท่านอาจารย์ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวนหนึ่งก่อตั้ง “ทุนศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ” ใช้ดอกผลดำเนินงานเกี่ยวกับ “ปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ” และเป็นรางวัลแก่แพทย์ดีเด่นในชนบท

ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท กล่าวถึงการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทว่า คณะกรรมการฯ มีการพิจารณาคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช

สำหรับปี 2565 ได้มีการเสนอชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบท ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 11 คน จากนั้นจึงเดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน โดยมีการสัมภาษณ์แพทย์ ผู้ร่วมงาน และผู้มารับบริการ ตลอดจนเยี่ยมชมผลงานและโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการพิจารณาขั้นสุดท้าย เพื่อคัดเลือกแพทย์ที่มีความเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังนำผลงานแพทย์ที่เคยตรวจเยี่ยมและสัมภาษณ์เมื่อปีก่อนมาพิจารณา

เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีแพทย์ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อมอบประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบท อีกทั้งยังมีผลงานประจักษ์เป็นที่ยอมรับจากประชาชนในระดับท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในที่สุดคณะกรรมการฯ สามารถคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ อีกทั้งยังเป็นผู้อุทิศตนปฏิบัติราชการในจังหวัดห่างไกล รวมทั้งปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยในความเชี่ยวชาญอย่างครอบคลุมถึงครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ ความชำนาญ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการและทรัพยากรสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างสุดความสามารถ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรและชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรและประชาชนในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจที่ดีของการทำงานอย่างมีความสุขในทุกระดับการบริการสาธารณสุข

จากนั้น ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประกาศผลให้
นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 พร้อมกล่าวประกาศเกียรติคุณ นพ.เพียรศักดิ์ ว่า “ท่านเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นด้านการครองตน การครองคน และการครองงาน ยึดถือการปฏิบัติงานบนปณิธานที่จะใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากผลงานของแพทย์ท่านนี้ที่ประจักษ์สู่สาธารณชน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าท่านเป็นผู้ใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และศิลปะในเสียงเพลง เพื่อการต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแค่ในหน่วยบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังคงใส่ใจประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกสถานะ ทุกเชื้อชาติ อย่างเท่าเทียมกันตลอดมา ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงมีมติให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เป็นผู้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเกียรติประวัติ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่แพทย์ท่านอื่นสืบไป”

อนึ่งในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.30-15.00 น. นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ หัวข้อ “เสียงจากหัวใจ สู่ลมหายใจไร้พรมแดน” ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น G รพ.ศิริราช อีกด้วย

สำหรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จำนวน 200,000 บาท บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 50,000 บาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 20,000 บาท

ประวัติ นายแพทย์เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง
1. เกิดวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2515

2. การศึกษา
• มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) ปีที่สำเร็จการศึกษา 2540
ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่สำเร็จการศึกษา 2546
วุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่สำเร็จการศึกษา 2548
วุฒิบัตรสาขาโรคระบบหายใจเด็ก

3. ประวัติการทำงาน
• ตำแหน่ง นายแพทย์ 4
สถานที่ โรงพยาบาลตาลสุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. 2540 - 2541
• ตำแหน่ง นายแพทย์ 5 - 6
สถานที่ โรงพยาบาลน้ำยืน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. 2542 - 2548
• ตำแหน่ง นายแพทย์ 7 (ชำนาญการ) ด้านเวชกรรมสาขากุมารเวชกรรม
สถานที่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน

4. ผลงานดีเด่น
• ปี 2549 โครงการต่อลมหายใจ (Home Ventilator) และกองทุนช่วยเหลือเด็กป่วย
โดยเป็นตันแบบและพัฒนางานไปสู่การเป็น Home Ventilator Center ในระดับภูมิภาค รวมถึง สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ สามารถส่งผู้ป่วยเด็กกลับบ้านพร้อมเครื่องช่วยหายใจได้เป็นรายแรกของ สปป.ลาว ในปี 2561 ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยในโครงการต่อลมหายใจที่สามารถกลับบ้าน พร้อมเครื่องช่วยหายใจและอยู่ในความดูแลต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คือ 42 ราย
• ปี 2563 วางแนวคิดและร่วมก่อตั้ง “โรงพยาบาสเด็กสรรพสิทธิประสงค์”
ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่การใช้งานโรงพยาบาสสนามเดิมของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ หลังจากการรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และแก้ไขปัญหาความแออัดของหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลศูนย์ “โรงพยาบาลเด็ก สรรพสิทธิประสงค์” จะสามารถเปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลเด็กแห่งแรกในเขตบริการสุขภาพที่ 10 และในระดับภูมิภาค ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2564

5. คุณสมบัติเด่นที่ได้รับการเสนอชื่อ
• ใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และศิลปะในเสียงเพลง สำหรับการทำงานและครองชีวิต
นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้รับการเรียกขานว่า “หมอนักร้อง” เนื่องจากได้ประพันธ์เพลง ขับร้อง และจัดคอนเสิร์ตการกุศลอยู่เสมอ เพื่อหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยและชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นนักพูด นักเขียน นักกิจกรรม ในหัวข้อ “เรื่องเล่าเร้าพลัง (Empowerment)” และเขียนหนังสือ “หน้าต่างความดีงาม” เพื่อเผยแพร่มุมมอง และทัศนคติในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อสังคม เพื่อหาทุนในการจัดกิจกรรม ได้แก่ ก่อตั้งหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจเด็กและกองทุน โครงการมีชีวา
• เป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นวิทยากรในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 215 ครั้ง ซึ่งมีผู้ฟังมากกว่า 50,000 คน
• เป็นผู้มีทักษะในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
ปี 2562 จ.อุบลราชธานีประสบอุทกภัย นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เสียสละโดยการลงพื้นที่ บริจาคเงินส่วนตัว และเครื่องอุปโภคบริโภค ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลายลง ได้จัดคอนเสิร์ตร่วมกับ ม.ราชภัฏอุบลราชธานีและเครือข่ายทางสังคม เพื่อขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งเปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน YouTube เพื่อเผยแพร่ภาพประกอบบทเพลง “ลมหายใจ”
ปี 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผ่านสื่อออนไลน์ในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอและเผยแพร่มิวสิกวิดีโอ ทาง YouTube นั่นคือ เพลง หมอขอร้อง “โคโรน่าออกไป” ซึ่งดัดแปลงจากเพลง “I will survive”
นอกจากนี้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ยังได้รับเกียรติจาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ HA Thailand ให้จัดแสดงมินิคอนเสิร์ต “นักรบเสื้อขาว เธอผู้ไม่ยอมแพ้” เพื่อให้กำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศไทย ที่ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดมากกว่า 10,000 คน
• เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
โดยมีการวางแนวคิดและร่วมก่อตั้ง “โรงพยาบาลเด็กสรรพสิทธิประสงค์” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเด็กแห่งแรกในเขตบริการสุขภาพที่ 10 และในระดับภูมิภาค

6. รางวัล/ประกาศเกียรติคุณที่ได้รับในหน่วยงานชุมชน หรือระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ
• พ.ศ. 2550 แพทย์จริยธรรมดีเด่น โรงพยาบาลสรรทสิทธิประสงค์
• พ.ศ. 2558 ศิษย์เก่ากุมารแพทย์ดีเด่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2561 ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• พ.ศ. 2557 รางวัล Popular Vote อาจารย์ในดวงใจ นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ใช้ทุน ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา รพ.สรรพสิทธิประสงค์
• พ.ศ. 2560 รางวัล “คนดีศรีอีสาน” สมาคมสื่อมวลชนและศิลปินถิ่นอีสาน
• พ.ศ. 2560 เกียรติบัตร “คนดีศรีอุบล” สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี
• พ.ศ. 2553 รางวัลชนะเลิศ R 2 R (Routine to Research) เรื่อง “การดำเนินงานดูแลผู้ป่วยเต็กโรคระบบหายใจเรื้อรัง แบบครบวงจร” สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.)
• พ.ศ. 2560 รางวัล “ปิดทองหลังพระ” Team Home Ventilator วันมหิดล 24 กันยายน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
• พ.ศ. 2562 ข้าราชการดีเด่น “ครุฑทองคำ” สำนักงานข้ราชการพลเรือน (กพ)
• พ.ศ. 2559 โล่และเกียรติบัตร รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ เรื่องเล่าคุณธรรม “ต่อลมหายใจ” โครงการโรงพยาบาลคุณธรรม กระทรวงสาธารณสุข
• พ.ศ. 2561 โล่และเกียรติบัตร “คนดีศรีสาธารณสุข” สถาบันแก้วกัลยาสิกขาลัยและกระทรวงสาธารณสุข
• พ.ศ. 2561 – 2562 แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ คัดเลือกเป็นตัวแทนส่งเสริมภาพลักษณ์แพทย์ ในโครงการ “ด็อกเตอร์ ดู-ดี” MAT-Thailand Ambassador for “Doctor Do Dee” 2018-2019 โดยแพทยสมาคมฯ ได้สร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง “BREATH” ซึ่งอ้างอิงจากประวัติและผลงานของ นพ.
เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณต่อสังคม ทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในปี พ.ศ. 2562
• พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลชนะเลิศ “The Excellence Award” APQO.2019 จากผลงานต่อลมหายใจด้วยทีมงานคุณภาพในการประชุมนานาชาติ สมาคมส่งเสริมคุณภาพ ภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค ที่บาหลี อินโดนีเซีย