medicalfocusth
งานวิจัยชี้ ‘บริการส่งยาทางไปรษณีย์’ ลดผู้ป่วยมา OPD ใน รพ. ได้ถึง 30% ลดภาระงานเภสัชฯ-จนท. ช่วงเร่งด่วน
×
ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย “โรคเบาหวาน” คือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่หากมีการติดเชื้อแล้ว จะมีโอกาสที่จะอาการทรุดหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านคน1 จะไปรับยาที่โรงพยาบาลก็อาจทำให้เกิดความแออัด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงเกิดไอเดียต่อยอดงานบริการ “การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ถึงบ้านผู้ป่วย” ให้กลายเป็นแนวทางหลักของสถานพยาบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย NCDs โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้เหมือนปกติภายใต้สภาวการณ์วิกฤต ซึ่งผลตอบรับที่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดี
ทว่าการดำเนินนโยบายจำเป็นต้องมีการประเมินผลด้วยกระบวนการทางวิชาการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มายืนยัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคตทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี และคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การประเมินผลระบบบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย” ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มคือ 1) บุคลากรในสภาวิชาชีพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยภาครัฐ และหน่วยงานขนส่งพัสดุภัณฑ์ จำนวน 66 คน ใน 6 โรงพยาบาล และ 2) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 480 คน โดยทั้ง 2 กลุ่มมาจากพื้นที่ 5 จังหวัด ที่มีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ถึงที่บ้านในช่วงโควิด-19 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช
ผลการศึกษาและประเมินผลพบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลทั้ง 6 แห่ง มีการส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาล (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) รวมถึงจัดส่งยาให้ทั้งผู้ป่วยที่อยู่ในและนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลได้ทั่วประเทศ อีกทั้งจากจำนวนโรงพยาบาลกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีถึง 4 แห่ง ที่ได้จัดบริการแบบนี้ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลอยู่แล้วด้วย นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการคงที่จะได้รับยาสำหรับ 2-3 เดือนต่อครั้งของการรับยา และกลับมาพบแพทย์ปีละ 1-2 ครั้ง โดยมีค่าบริการส่งยาทางไปรษณีย์ครั้งละ 50-100 บาท ส่วนระยะเวลาส่งยา ถ้าเป็นเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลจะอยู่ที่ 1-2 วัน และนอกเขต 2-3 วัน จากการให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ช่วยลดจำนวนคนใช้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรงพยาบาลได้ถึง 20-30% ตลอดจนลดภาระงานของเภสัชกรและเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ 10-20% อีกทั้งในแง่ของผู้ป่วยแล้ว ยังลดระยะเวลารอรับยาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลด้วย
ทั้งนี้ ในการส่งยาทางไปรษณีย์ แต่ละโรงพยาบาลจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพ พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การใช้แอปพลิเคชันสำหรับนัดหมายการตรวจหรือนัดหมายวันรับยา การใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในการตรวจร่วมกับเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) เพื่อให้คำแนะนำหรือติดตามการใช้ยาในผู้ป่วย เป็นต้น โดยผลที่เกิดขึ้นทำให้ภาพรวมของการให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยเบาหวานจากทั้ง 6 โรงพยาบาล มีความพึงพอใจเฉลี่ยมากกว่า 95% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก ส่วนประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนา เช่น ยาไม่ถึงมือผู้ป่วย ยาหาย และคุณภาพของยา ฯลฯ ดังนั้นในส่วนของยาน้ำ ยาที่จำเป็นต้องควบคุมระดับอุณหภูมิ และยาในกลุ่มยาเสพติด จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการบรรจุและกระบวนการจัดส่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพของยา เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยอาจมีทางเลือกในการให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาจากเภสัชกร หรือส่งยาไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้นำยาไปส่งถึงบ้านผู้ป่วยในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
งานวิจัยจึงได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้และสกัดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1) กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ควรกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจากที่อยู่อาศัยในภาวะวิกฤต พร้อมวางแนวทางเรื่องการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้โดยไม่ต้องมีภาระจ่าย เช่น ค่าส่งยา เนื่องจากถ้านโยบายนั้นเกิดจากการประกาศใช้โดยภาครัฐแล้ว ผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาไม่ควรแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว 2) การสื่อสารนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งยาทางไปรษณีย์ยังมีความไม่ชัดเจน ทำให้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติของทั้งผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3) ระบบข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ควรมีการวางระบบฐานข้อมูลให้ผู้ป่วยเข้าถึงและโต้ตอบได้ในทันที เพื่อความสะดวกในการใช้งานของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างครอบคลุม 4) ควรมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น Telepharmacy, Telemedicine และ Telenursing ในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม และร่วมกันดูแลผู้ป่วยกรณีที่ต้องรับยาที่บ้าน 5) ควรทบทวนกรอบอัตรากำลังของบุคลากรและการสรรหาบุคลากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เมื่อเกิดภาวะวิกฤต 6) ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการส่งยาทางไปรษณีย์ที่ชัดเจนและให้บริการแบบ One Stop Service โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมด้วย และ 7) สภาวิชาชีพและผู้บริหารควรมีบทบาทในการวางแนวทางหรือมาตรการที่ชัดเจน เพื่อกำกับและควบคุมมาตรฐานของการส่งยาทางไปรษณีย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (Goods Storage and Distribution Practice: GSDP)
ดร.ภก.สุรศักดิ์ สุนทร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากมีการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โรงพยาบาลทั้ง 6 แห่ง ใน 5 จังหวัดที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้มีการนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยไปปรับใช้กับการจัดบริการส่งยาทางไปรษณีย์ เช่น ค่าบริการในการจัดส่งสำหรับผู้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่สามารถเบิกได้กับ สปสช. ซึ่งแต่เดิมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขบางแห่งยังไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้ชัดเจน ทำให้มีการเรียกเก็บค่าจัดส่งกับผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัย ก็ยังมีการเรียกเก็บจากประชาชนสิทธิ์บัตรทองอยู่บ้างประมาณ 50 บาท เพราะอาจยังไม่รู้ว่า สปสช. ให้เบิก รวมถึงบางโรงพยาบาล แม้รู้ว่าสามารถเบิกได้ แต่งบประมาณที่สนับสนุนส่วนนี้อาจไม่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยบางรายมียาที่ต้องใช้หลายชนิด อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งยาเกินจากอัตราที่ สปสช. สนับสนุน แต่ก็มีโรงพยาบาลบางแห่งที่สามารถเจรจากับบริษัทขนส่งเอกชนได้ ทำให้ไม่ต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย
ดร.ภก.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พบจากงานวิจัย ทำให้ทีมวิจัยมองว่าควรมีการศึกษาวิจัยต่อ ในประเด็นที่เป็นช่องว่างต่างๆ เช่น กองทุนบัตรทอง 30 บาท เป็นกองทุนเดียวที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งยาทางไปรษณีย์, การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ในปัจจุบันยังเป็นการส่งร่วมกับพัสดุอื่นๆ ซึ่งไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ หรือการป้องกันความเสียหายให้เหมาะสมกับยาแต่ละประเภท รวมถึงความปลอดภัย (Security) ในการส่งยาให้ถึงผู้ป่วยตามชื่อที่ระบุไว้ในใบสั่งยา ยาไม่หายหรือถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ (Lost and Misuse) นอกจากการรักษาผู้ป่วย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ด้าน ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบยาของประเทศคือ การวิจัยประเมินเพื่อการพัฒนานโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านระบบยา เพื่อนำข้อมูลเชิงประจักษ์จากพื้นที่ที่ได้มีการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ แล้ว มาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบยาในภาพรวมของประเทศ ซึ่งการประเมินผลระบบบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ฯ ดังกล่าว เป็นอีกงานวิจัยหนึ่งของ สวรส. ที่จะช่วยสนับสนุนทางวิชาการให้กับผู้กำหนดนโยบายได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบยาของประเทศต่อไป
.........................
ข้อมูลจาก: งานวิจัยการประเมินผลระบบบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
1(หน้าแรก | กรมควบคุมโรค (moph.go.th))