medicalfocusth
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข การให้บริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit)
×
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข การให้บริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit) การตรวจรักษาเชิงรุกโดยผู้เชี่ยวชาญในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้ทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ได้ดำเนินการให้บริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit) ตั้งแต่ปี 2564 และมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเต็มที่จากนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการรักษากลุ่มโรคฉุกเฉินให้ทันท่วงที โดยเฉพาะการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่มีเวลาเป็นความท้าทาย การพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลต่อการฟื้นฟูและหายจากโรคของผู้ป่วย ลดความเสียหายของสมองได้ ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (stroke fast track) ของสถาบันประสาทวิทยา ในปี 2564 – 2566 พบว่า มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันที่มาถึงโรงพยาบาลทันภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง เพียงร้อยละ 13 ซึ่งจากการสอบถามผู้ป่วยและญาติ พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่มาโรงพยาบาลล่าช้า เนื่องจากสภาพการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายฉบับทั้งใน และต่างประเทศ หรืออยู่ในที่ห่างไกลพบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลเร็วขึ้น คือการเดินทางโดยใช้รถฉุกเฉินนำส่ง และการบริการของหน่วยรถโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile stroke Unit) ลดระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาให้เร็วขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการทีมนำทางคลินิกโรคหลอดเลือดสมอง สถาบันประสาทวิทยา ได้เห็นถึงประโยชน์ของการบริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit) จึงได้มีการจัดโครงการพัฒนาด้านระบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยเชิงรุก และดำเนินการต่อเนื่อง โดยการออกหน่วยรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ ซึ่งมีทีมแพทย์ประสาทวิทยา พยาบาลวิชาชีพหน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน พยาบาลวิชาชีพหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะวิกฤต นักรังสีทางการแพทย์ และพนักงานประจำรถ พร้อมให้บริการดูแลรักษาพยาบาล วินิจฉัย ตรวจพิเศษ พร้อมประเมินการรักษาเพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วยที่มีอาการ หลอดเลือดแดงในสมองอุดตัน เป็นการบริการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งการส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า รถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ มีการให้บริการนำร่องควบคู่กับการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง โดยเริ่มต้นที่เขตสุขภาพที่ 11 โรงพยาบาลระนอง จังหวัดระนอง เขตสุขภาพที่ 11 โรงพยาบาลตาก จังหวัดตาก พร้อมจัดกิจกรรมการอบรมหลักสูตรรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (MSU) กับทีมโรงพยาบาลตาก เขตสุขภาพที่ 2 และโรงพยาบาลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 3 พร้อมจัดกิจกรรมการอบรม MSU ให้กับทีมโรงพยาบาลตาคลี ซึ่งมีการให้บริการผู้ป่วย Stroke Fast Track ในเขตอำเภอตาคลี และอำเภอตากฟ้า โดยได้รับการประสานการบริการอย่างไร้รอยต่อ และมีการออกหน่วยการบริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile Stroke unit) ร่วมมือกับทีมแพทย์โรงพยาบาลอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เขตสุขภาพที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการโรคหลอดเลือดสมอง เพราะโรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด ปลอดอัมพาต ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.nIt.go.th