medicalfocusth

ม.มหิดลพร้อมขับเคลื่อน ESG สู่ชุมชน ชูโครงงานเด่น กินคลีนด้วยจิตตปัญญา-อ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด
ม.มหิดลพร้อมขับเคลื่อน ESG สู่ชุมชน ชูโครงงานเด่น กินคลีนด้วยจิตตปัญญา-อ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด
นับจากปีที่ผ่านมาที่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์วิจัยรับใช้สังคม ได้จัดตั้งจากการรวมตัวกันของคณาจารย์วิทยาเขตนครสวรรค์ จนปัจจุบันสามารถผลักดันให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาเขตนครสวรรค์ทุกคนจะต้องผ่าน “รายวิชาจิตตปัญญาและการพัฒนาภาวะผู้นำ”

อาจารย์ ดร.จิรพล จิรไกรศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งและดำเนินการ ศูนย์วิจัยรับใช้สังคม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีศักดิ์ ชูมา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ ภายใต้ภารกิจสำคัญจากเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อการขับเคลื่อนสู่ทิศทางบรรลุเป้าหมาย ESG

ประกอบด้วยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งแม้มีพื้นฐานจากการเป็น “ปัจจัยหลัก” ในการ “พัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน” ในภาคเอกชน แต่ในปัจจุบันได้ขยายผลสู่ระดับชุมชน เพื่อการยกระดับชีวิตที่สมดุล

สิ่งสำคัญของการส่งเสริมองค์ความรู้ ESG เพื่อพัฒนาชุมชนของ ศูนย์วิจัยรับใช้สังคม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือการสร้าง “สติ” “ความเมตตา” และ “กระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์” เพื่อให้นักศึกษาของวิทยาเขตนครสวรรค์ ได้พัฒนาปัญญา และจิตใจไปพร้อมๆ กัน ตามหลักการ “จิตตปัญญา” สู่การเป็น “วิทยาเขตแห่งการตื่นรู้” (Mindful Campus) ของ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงงาน ESG ผลงานโดยนักศึกษาโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่โดดเด่นที่ผ่านมา มีทั้งในระดับบุคคล ที่เสนอแนวคิด “กินคลีนด้วยจิตตปัญญา” ผ่าน “การสะท้อน” (Reflection) ให้เห็นถึง “สภาวะทางอารมณ์” ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

และในระดับสังคม ที่แสดงให้เห็นถึง “สภาวะทางอารมณ์” ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการทำกิจกรรม “อ่านหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา”

การ “กินคลีน” เป็นการดำเนินภารกิจที่ท้าทายโดยนักศึกษาโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อม “พิสูจน์ตัวเอง” ด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควบคุม “อาการภูมิแพ้” ให้ได้ภายในระยะเวลา 21 วัน โดยได้มีการจดบันทึกความคิดและความรู้สึกระหว่างช่วงเวลาที่ผ่านความยากลำบากดังกล่าวโดยละเอียด

ซึ่ง “การกินคลีน” หากไม่ทำโดยเข้าถึง “สภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง” ก็จะไม่อาจเข้าถึง “การรู้ค่า รู้ความหมายในสิ่งที่ทำ” ซึ่งก็คือหนทางสู่การใช้ “สติ” เพื่อการ “ดูแลตัวเอง” นำไปสู่ “การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”

ในขณะที่ “การอ่านหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา” อีกภารกิจเพื่อสังคมโดยนักศึกษาโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อทำโดยมีเป้าหมายเพื่อ “การทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น” สิ่งที่ได้คือ “ความสุขใจ” และ ”ความมั่นใจในการดำรงชีวิต” (Self - esteem) กลับมาเป็น “รางวัลชีวิต”

โดย อาจารย์ ดร.จิรพล จิรไกรศิริ มองว่า “Reflection” โดยทั่วไปสะท้อนแต่ในเชิง “ทำอะไร” “คิดอะไร” แต่ละเลยการกล่าวถึง “สภาวะทางอารมณ์” กันอย่างจริงจัง การเข้าใจความคิดและอารมณ์นำไปสู่ “กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์” ให้สามารถ “จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น” ได้อย่างแท้จริง

ก้าวต่อไปของ ศูนย์วิจัยรับใช้สังคม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้มุ่งเพียงการสร้างองค์ความรู้ ESG เพื่อการพัฒนาในระดับบุคคล และระดับสังคมให้กับนักศึกษา บุคลากร และชาวชุมชนจังหวัดนครสวรรค์

แต่จะขยายผลขอบเขตของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนดังกล่าวให้ชาวชุมชนจังหวัดนครสวรรค์สามารถพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้บทบาทใหม่ของ ศูนย์วิจัยรับใช้สังคม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็น “พี่เลี้ยง” ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาชุมชนฯ ให้เกิด “ความร่วมมือ” สู่ “การสร้างเครือข่ายทางสังคม” ในมิติของ ESG ที่ครอบคลุมต่อไปได้มากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210