medicalfocusth

“พ่อแม่ต้องรู้: ปกป้องสิทธิเด็กจากภยันตรายบุหรี่ไฟฟ้า”
“พ่อแม่ต้องรู้: ปกป้องสิทธิเด็กจากภยันตรายบุหรี่ไฟฟ้า”
วันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวที่เสนอต่อสาธารณะในหลายกรณีที่พ่อแม่มีการให้ลูกของตนใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และไม่ผิดกฎหมาย นั้นเป็นความเข้าใจผิดของพ่อแม่ ศจย.ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จึงจัดแถลงข่าวถึง “บทบาทครอบครัวในการปกป้องสิทธิเด็กจากภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด ทำให้สมองมีการหลั่งสารโดปามีน ทำให้เกิดความสุขผ่อนคลายในระยะแรก แต่ผลเสียของนิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัว เกิดการอักเสบและมีอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกับเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) (1) เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แตกต่างกันที่ในเด็กจะมีผลกระทบต่อสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี (2) ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนหน้าที่ควบคุมความสามารถในการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ ความจำ สมาธิ และอารมณ์ (3) ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูเปลี่ยนผ่านไปใช้บุหรี่มวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าเมื่ออายุมากขึ้น(4) รวมถึงการใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กัน และอาจนำไปสู่การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายได้ในอนาคต (5)

“ทั้งนี้ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองนั้น ทางสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้อยู่ใกล้ผู้สูบมีความเสี่ยงต่ออาการหลอดลมอักเสบและหายใจที่ถี่เพิ่มขึ้น ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีโลหะหนักและอนุภาคขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ที่สามารถเข้าไปถึงปอดได้ลึกซึ่งอาจทำให้การทำงานของหัวใจและปอดแย่ลง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ (6) ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ไห้เด็กใช้หรือถูกไอบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของตัวเด็กเอง” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติกล่าวว่า บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้คุ้มครองเด็กจากพิษภัยของบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่หลากหลาย ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ก็มีอย่างน้อย 2 มาตราในมาตรา 26 ก็มี 2-3 อนุมาตรา อีกทั้งยังมีมาตรา 45 ในกรณีที่เด็กสูบบุหรี่จะต้องมีกระบวนการในการปรับแก้ไขพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเด็ก เฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กมีประเด็นกล่าวคือ

1. มาตรา 26 อนุ 10 ห้ามจำหน่ายแลกเปลี่ยนหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก

2. กรณีใช้เด็กไปซื้อบุหรี่อาจขัดต่อข้อห้ามตามมาตรา 26 อนุ 6 ใช้จ้างหรือวานให้เด็กทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตหรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

3. สูบบุหรี่ทำให้เด็กได้รับควันบุหรี่มือสองมีความผิดตามมาตรา 26 วงเล็บ 1 เพราะถือเป็นการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กดังที่บัญญัติในมาตรา 4

นอกจากนั้นการพ่นควันบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจนเด็กสูดควันหรือไอเข้าไปอาจเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง 2550 มาตรา 4 วรรค 1 แม้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุถึงการกระทำโดยเจตนาไม่รวมการกระทำโดยประมาท การตีความเกี่ยวกับควันบุหรี่ไม่ว่าจะมาจากบุหรี่มวนหรือไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลเช่นเดียวกันคือก่ออันตรายให้แก่เด็ก จึงไม่อาจตีความว่ากฎหมายห้ามเฉพาะบุหรี่มวน ในกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กไม่ได้ระบุถึงรูปแบบของการกระทำแต่เน้นเนื้อหาของการกระทำคือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเด็กจากการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใด

บทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้พยายามดึงเด็กออกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเป็นภัยจากการสูบบุหรี่ของเด็กซึ่งระบุอยู่ในมาตรา 45 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าเด็กสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าก็จำเป็นต้องนำตัวเด็กมามอบให้ผู้ปกครองและร่วมกับผู้ปกครองในการแก้ไขปัญหานี้โดยอาจจะกำหนดแผนบำบัดฟื้นฟูแก่เด็กได้ด้วย ต่อประเด็นที่ว่าเราสามารถออกกฎหมายอนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้หรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีโดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่มีบทบัญญัติในหลายข้อไม่ว่าจะเป็นข้อ 24 หรือข้อ 33 มีความผูกมัดให้ประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการทั้งทางกฎหมายทางการบริหารมาตรการทางสังคมและมาตรการทางการศึกษาหรือการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ในเรื่องการห้ามสูบห้ามนำเข้าห้ามผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึง

ประเด็นคือทำไมไม่ห้ามบุหรี่มวนเด็ดขาดเหมือนบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้เป็นเพราะคนสูบบุหรี่มวนมีจำนวนมากไม่สามารถยุติได้ทันทีจึงต้องใช้วิธีค่อยๆจำกัดการสูบให้ลดลงเรื่อยๆจนกว่าจะอยู่ในระดับที่สามารถออกกฎหมายห้ามได้ ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีการสูบในจำนวนมากเท่ากับบุหรี่มวนจึงง่ายกว่าที่จะห้ามเด็ดขาด การไม่ห้ามเด็ดขาดแล้วใช้วิธีการจำกัดวงไม่ให้มีการสูบหรือมีการซื้อขายหรือนำเข้านั้น เห็นอยู่แล้วว่ามีบทบัญญัติที่ห้ามเกี่ยวข้องกับเด็กอย่างเด็ดขาด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถห้ามขาดได้เพราะมีความปะปนกันระหว่างบุหรี่สำหรับผู้ใหญ่และบุหรี่สำหรับเด็กเป็นบุหรี่เหมือนกันหมด การกำหนดให้ซื้อขายบุหรี่มวนเป็นซองไม่ยอมให้จำหน่ายเป็นมวนเพื่อต้องการไม่ให้เด็กสามารถซื้อหาได้ในทางปฏิบัติก็ไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นมาตรการในการปกป้องเด็กให้พ้นจากพิษภัยของบุหรี่ในกรณีที่จำกัดการสูบการซื้อขายการผลิตอะไรก็ตามไม่สามารถทำโดยมาตรการทางกฎหมายตามลำพัง จำเป็นต้องให้สังคมแวดล้อมเด็กไม่ว่าจะเป็นที่ครอบครัวชุมชนและสถานศึกษามีส่วนร่วมในการเข้ามาคุ้มครองดูแลไม่ให้เด็กต้องรับพิษภัยจากบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นการสูบของผู้อื่นหรือเป็นการสูบของเด็กเอง

ด้านนางสาวราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมกิจการสตรีและครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กรณีบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการใช้ในครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอาจเข้าข่ายกระทำความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ 2550 ด้วย กรมมีพันธกิจหลัก คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวสามารถทำหน้าที่ดูแลคนในครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ การให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และให้คำแนะนำแก่ลูกหลานเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตราย

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กำลังเร่งดำเนินการประสานงานทั้งหน่วยงานภายในและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ครอบครัว เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ด้วยหวังว่าสังคมจะมีความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า และร่วมมือกันสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและปลอดภัยสำหรับทุกคน

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวย ศจย. กล่าวว่า ครอบครัวต้องเข้าใจบทบาทของ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และต้องปกป้องสิทธิเด็กจากภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์นี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม เราต้องปกป้องเด็กและสมาชิกในครอบครัวจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน ในภาวะที่เด็กเกิดน้อยลง ยิ่งต้องช่วยกันปกป้องให้สมองของอนาคตของชาติไม่ถูกทำลายไปด้วย

(1) https://archive.cdc.gov/www_cdc_gov/tobacco/basic_information/e-cigarettes/severe-lung-disease.html
(2) https://www.turnbridge.com/news-events/latest-articles/drugs-and-brain-development/ และ https://www.vichealth.vic.gov.au/our-health/be-healthy-blog/how-does-nicotine-affect-brain-development
(3) https://www.usatoday.com/story/news/health/2024/03/28/secondhand-e-cigarette-vaping-harm-children-study/73133273007/
(4) https://www.who.int/news-room/spotlight/more-than-100-reasons-to-quit-tobacco?gad_source=1&gclid=CjwKCAjwk8e1BhALEiwAc8MHiENjs8p_edbFL75Qzw8bhWm158HZGdJlZGY9akfdXcFa-Hvb0oKnVxoCUVQQAvD_BwE
(5) https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538688/
(6) https://www.heart.org/en/news/2022/05/31/in-secondhand-vape-scientists-smell-risk