medicalfocusth
ม.มหิดล-สธ. ร่วมวิจัยระบาดวิทยา HIV-โรคหัวใจ พร้อมขยายผล NCDs ตอบโจทย์ออกแบบจัดบริการองค์รวม
×
สิ่งที่นับว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อสุขภาพมากที่สุด ไม่ใช่การมีโรคประจำตัว แต่คือการขาด “การเฝ้าระวัง” ดูแลตัวเองจนต้องกลายเป็นอีกโรคหนึ่งโดยไม่คาดคิด
เพราะโรคบางโรคมีความเกี่ยวเนื่องกับอีกโรคด้วยตัวเอง ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การ “ตัดท่อน้ำเลี้ยงแห่งรังโรค” เพื่อหยุดการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อีกโรค
รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข วิจัยความชุกและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ติดเชื้อ HIV ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถนำไปสู่การต่อยอดขยายผลในเชิงนโยบายได้
โดยได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการนานาชาติด้านสาธารณสุข “BMC Public Health” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
จากการวิจัยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบจนค้นพบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จากสาเหตุสำคัญที่ว่า “เชื้อไวรัส HIV” ส่งผลต่อการอักเสบของหลอดเลือด
ดังนั้น หากไม่สามารถคุมระดับไวรัสได้จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น จากการวิเคราะห์เชิงสถิติแบบอภิมาน (Meta - analysis) เพื่อศึกษา “ความเสี่ยง” “ความชุก” และ “อุบัติการณ์” พบอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ติดเชื้อ HIV ทวีปเอเชีย - แปซิฟิกสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองลงมาจากผู้ติดเชื้อ HIV ในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา
โดยมีข้อสันนิษฐานว่าอุบัติการณ์อาจต่ำกว่าความเป็นจริง (Underestimate) ได้
เนื่องจากงานวิจัยด้านอุบัติการณ์ในทวีปเอเชีย - แปซิฟิก ยังน้อยมาก และเมื่อเทียบกับในส่วนของจำนวนผู้ป่วยโรค HIV ทวีปเอเชีย - แปซิฟิกมีมากถึงอันดับ 2 รองจากทวีปแอฟริกา
รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล ได้ให้มุมมองต่อการวิจัยในครั้งนี้โดยได้แสดงความห่วงใยถึงแนวโน้ม “ตัวเลขจริง” ของผู้ติดเชื้อ HIV ในทวีปเอเชีย - แปซิฟิกที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคาดว่าอาจสูงกว่าสถิติที่ใช้วิธีการวิเคราะห์แบบอภิมาณ (Meta - analysis) ได้
ทั้งๆ ที่ปัจจุบันยังคงไม่มีการศึกษา และเฝ้าระวังที่ดีพอในทวีปเอเชีย - แปซิฟิก เมื่อเทียบกับทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป แต่ยังได้ผลลัพธ์ออกมาถึงอันดับที่ 3
นอกจากนี้ ยังได้ฝากแนะนำผู้ที่ติดเชื้อ HIV ให้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพก่อนป่วยเพิ่ม โดยให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เลิกบุหรี่ - ดื่มสุรา พร้อมควบคุมระดับน้ำตาล โซเดียม และไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่สมดุล
โดยก้าวต่อไปทีมวิจัยพร้อมศึกษาปัจจัยสำคัญในผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีความเสี่ยงต่อโรค NCDs เพื่อ “คุมเข้ม” ความชุก และอุบัติการณ์ของ “ภาวะโรคร่วม” ของ HIV และ NCDs พร้อมขยายผลสู่เชิงนโยบายเพื่อให้สามารถออกแบบการจัดบริการแบบองค์รวมได้ต่อไปอย่างสมบูรณ์
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่
www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210