medicalfocusth
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการ PSCM Research & Innovation แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านดิจิทัลที่มีบทบาทกับการแพทย์แห่งอนาคต
×
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการ PSCM Research & Innovation แสดงศักยภาพความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศ มุ่งมั่นผลิตบุคลากรในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ให้มีการผสมผสานเชื่อมโยงกับศาสตร์สาขาอื่นและมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โดยมีพื้นฐานองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ต่อระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในงานประกอบด้วยการแนะนำหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาและเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Digital Twins and AI in Healthcare” โดยมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เธียรสิน เลี่ยมสุวรรณ รักษาการผู้ช่วยคณบดีระดับบัณฑิตศึกษา และประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) พร้อมด้วยคณาจารย์ประธานหลักสูตรฯ ร่วมเสวนา นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากนักศึกษา เยี่ยมชมห้องการเรียนการสอน สาธิตหัตถการเทคโนโลยีที่ทันสมัย (วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 ชั้น 4 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดโครงการฯ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ สร้างสุขภาพที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัย ที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดโครงการ PSCM Research & Innovation เพื่อแนะนำหลักสูตรการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา แก่ผู้ที่สนใจและเป็นอีกเวทีในการส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่สาธารณะ อันเป็นการสร้างความรับรู้ในศักยภาพ ความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศ โดยผสมผสานเชื่อมโยงกับศาสตร์สาขาอื่นและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โดยมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่บูรณาการ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้ในระบบสาธารณสุข
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เธียรสิน เลี่ยมสุวรรณ รักษาการผู้ช่วยคณบดีระดับบัณฑิตศึกษา ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาชาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) กล่าวถึงรายละเอียด หลักสูตรการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ประกอบด้วย 1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ 2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล 3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา 4. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งทุกหลักสูตรมุ่งเน้นการผสมผสานเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โดยมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่บูรณาการนำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้ในระบบสาธารณสุข
ภายในงานยังมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมห้องการเรียนการสอนและการสาธิตหัตถการเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้รับเกียรติจากประธานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทั้ง 4 หลักสูตร ให้รายละเอียด นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เธียรสิน เลี่ยมสุวรรณ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปิยกานต์ ลิมธัญญกูล ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา และอาจารย์ ดร.จีรศักดิ์ คำฟองเครือ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์
หลังจากนั้นเป็นงานเสวนาหัวข้อ “Digital Twins and AI in Healthcare” โดย ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล และคณาจารย์ประธานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทั้ง 4 หลักสูตร โดยสรุป Digital twins (DT) and AI in Healthcare , DT :เป็นการจำลองวัตถุและระบบทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่มีความเสมือนจริง เช่น ร่างกาย อวัยวะ และการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายมนุษย์ DT สามารถเป็นมากกว่าโมเดลจำลองทั่วไป นั่นคือ สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้แบบ real-time , AI :เป็นเทคโนโลยีที่จำลองการเรียนรู้และการประมวลผลของมนุษย์ ประกอบด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต การตอบสนองและเปลี่ยนแปลงต่อข้อมูลที่ป้อนเข้าไปใหม่ การคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ AI ต้องใช้ข้อมูลป้อนเข้าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การวิเคราะห์และตัดสินใจของ AI มีความถูกต้อง กล่าวโดยสรุปว่า DT and AI in Healthcare : นักวิจัยสามารถนำ DT มาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของระบบที่จำลอง โดยไม่ต้องดำเนินการทดลองในร่างกายมนุษย์จริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทดลอง ประโยชน์ของการใช้ DT คือ สามารถใช้สถิติหรือ AI ในการทำนายผลหรือวางแผนการรักษา เช่น การประเมินผลการรักษา การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาที่ใช้ในการรักษา และการประเมินความเสี่ยงจากการรักษา เป็นต้น ซึ่งทำให้การรักษาและการดูแลผู้ป่วยมีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น
นับเป็นความก้าวหน้า ที่จะต่อยอดเป็นผลงานวิจัยที่ล้ำสมัย ตรงกับยุทธศาสตร์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีเป้าหมายในการเร่งพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงเพื่อบริการสังคมและชุมชนทุกระดับด้วยความเป็นเลิศจากผลงานวิจัยทางวิชาการขั้นสูง และเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงนวัตกรรมด้วยความเสมอภาค ตามพระปณิธานฯ