medicalfocusth

ม.มหิดลคิดค้น‘เครื่องมือ RRST’คัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง
ม.มหิดลคิดค้น‘เครื่องมือ RRST’คัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง
อาจารย์ ดร.จันทรา แก้วภักดี อาจารย์พยาบาลประจำสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพชุมชน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยสร้าง “เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำ” (RRST - Readmission Risk Screening Tool) ในผู้สูงอายุที่มีโรคหลอดเลือดสมอง

ซึ่งได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “INQUIRY” และ “Trends in Sciences” ที่ได้วิจัยร่วมกับ ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข และภาควิชาชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ School of Nursing, University of Massachusetts Lowell สหรัฐอเมริกา ด้วยความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง“

เพื่อเสนอเป็น “ทางเลือก” สู่ “ทางรอด” สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากการประเมินด้วยเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำก่อนกลับบ้าน
อาจารย์ ดร.จันทรา แก้วภักดี กล่าวต่อไปว่า แม้โรคหลอดเลือดสมองจะพบมากใน “ผู้สูงวัย” แต่ “วัยทำงาน” ก็เสี่ยงได้หากขาดความระมัดระวังในพฤติกรรมการดูแลตัวเอง ได้แก่ รับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งนับเป็น “ปัจจัยหลัก” ที่ทำให้โรคทวีความรุนแรง

เช่นเดียวกับ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่นอนติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้” หรือ “ขาดการเคลื่อนไหว” อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดแผลกดทับ ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลได้ รวมทั้งการที่ผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหวจากการนอนราบนานๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่บริเวณปอด หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้

ยังมี “ปัจจัยรอง” ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้เช่นกัน ได้แก่ “อิทธิพลของฮอร์โมน” ที่เกี่ยวกับเพศ เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ที่มีผลต่อเรื่องไขมันในเลือด หรือโรคหลอดเลือดต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ต้องรับประทานยาหลายชนิด ฤทธิ์ของยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้อาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นมากขึ้นได้

ด้วย “เครื่องมือ RRST” ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดสร้างขึ้นมาก่อนนี้ จะช่วยทำให้ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” ได้สร้างความตระหนักถึงแนวทางในการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้เลิกพฤติกรรมแบบเดิมที่ส่งผลกระทบทำให้กลับมาเป็นซ้ำ

โดยการประเมินจากเครื่องมือคัดกรอง อาทิ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อโรค ได้แก่ อาหารหวาน อาหารเค็ม และอาหารมัน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการนอนหลับความสม่ำเสมอในการรับประทานยา และปริมาณยาที่รับประทานต่อวัน โรคประจำตัวที่มีอยู่ การตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” จะไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเพลี่ยงพล้ำจากพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องกลับมารักษาซ้ำได้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210