medicalfocusth
การมองเห็นที่ผิดปกติ เสี่ยงตาบอด ควรพบแพทย์ทันที
×
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนอาการมองเห็นผิดปกติ นอกเหนือจาก VKH ยังมีสาเหตุอันเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการมองเห็น อันตรายและเสี่ยงตาบอด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การมองเห็นผิดปกติ สามารถเกิดได้จากโรคของตาเอง เช่น ตาแดง ตาอักเสบ ต้อหิน ต้อกระจก แต่การมองเห็นที่ผิดปกติบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ทันทีทันใด มักมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทการมองเห็น โดยอาจจะเป็นความผิดปกติที่สมอง เส้นประสาทตา หรือจอประสาทตาก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น Vogt-Koyanagi-Harada Diseases (VKH) Neuromyelitis Optica (NMO) Multiple Sclerosis (MS) หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการมองเห็นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ตาข้างเดียว หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง กรอกตาแล้วเจ็บ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง การได้ยินผิดปกติ เห็นภาพซ้อน ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านในทันที เพื่อตรวจประเมินสาเหตุของการเกิดโรค อันจะนำไปสู่การรักษาต่อไป
ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิง แพทย์หญิง นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า VKH เป็นโรคที่พบได้ แต่อาจจะไม่บ่อยมาก ผู้ป่วยมักจะมาตรวจด้วยอาการม่านตาอักเสบ การมองเห็นผิดปกติ ปวดตา ตาแดง ปวดศีรษะ การได้ยินผิดปกติ ผมร่วง ผมหงอกเป็นหย่อม ๆ หรือผิวหนังมีอาการด่างขาว โรคนี้มักพบในคนเอเชียมากกว่าชนชาติอื่น โดยคนอินเดีย และคนไทย พบสาเหตุของม่านตาอักเสบ จาก VKH มากที่สุดในโลก ผู้ป่วยมักมีอายุอยู่ 20-39 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในอายุที่น้อยกว่าหรือมากกว่านั้น สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เกิดขึ้นกับร่างกายในหลายอวัยวะ ได้แก่ ตา สมอง หู ผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้ การทำงานที่ผิดปกติ อาจจะเกิดขึ้นเองในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีพันธุกรรมบางชนิด หรือเกิดตามหลังการอักเสบติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ หรือตามหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 หรืออาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจรักษา จะได้รับการตรวจประเมินการมองเห็นโดยจักษุแพทย์ ร่วมกับการประเมินความผิดปกติทางระบบประสาทโดยอายุรแพทย์ระบบประสาท และพิจารณาตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค ตรวจชนิดภูมิคุ้มกัน และเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองร่วมไขสันหลัง เพื่อยืนยันและวินิจฉัยแยกโรค เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรค VKH จะได้รับการรักษาด้วยยาปรับภูมิคุ้มกัน และติดตามภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคต่อไป
อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น อาจจะเกิดจากโรคในระบบประสาทอื่น ๆ ได้ ความสำคัญคือ ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคทางระบบประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทการมองเห็น การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ กลับมามองเห็นได้ดีเหมือนเดิม ลดอัตราความพิการทางการมองเห็นได้ และหากความผิดปกตินั้นเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้หายดีมากขึ้น ลดอัตราการเกิดความพิการหรือทุพลภาพให้น้อยลง