medicalfocusth

แพทย์เตือน “โรคติดเชื้อ RSV ในผู้ใหญ่” แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน
แพทย์เตือน “โรคติดเชื้อ RSV ในผู้ใหญ่” แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า “RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus โดยเชื้อ RSV เป็นไวรัสที่พบมานานแล้ว โดยกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หากติดเชื้อ RSV อาจจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะปัจจัยที่ทำให้อาการของโรครุนแรง คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ที่มีอายุ 65 ปี กับ 85 ปี ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันจะแตกต่างกันมาก และความน่ากังวลสำหรับผู้สูงอายุ คือ การที่มีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต หรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ RSV แทนที่อาการจะเป็นแค่ไข้หวัด แต่อาการกลับรุนแรง เชื้อลุกลามลงปอดกลายเป็นปอดอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นที่เกาะในจมูกและคอ ที่สามารถโจมตีซ้ำเติมเป็นปอดอักเสบรุนแรงได้อีกด้วย เชื้อ RSV จึงเป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ”

“RSV เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มาตามฤดูกาล ซึ่งในประเทศไทยจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและสูงขึ้นในช่วงกันยายนและตุลาคม ตัวการแพร่เชื้อ RSV ที่สำคัญ คือ เด็กที่นำเชื้อจากโรงเรียนกลับไปให้คนในครอบครัว ผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวมักจะได้รับเชื้อจากลูกหลาน ซึ่งอันตรายอย่างมาก เพราะสามารถติดเชื้อ RSV กันได้หลายครั้ง และมีโอกาสกลับมาเป็นได้บ่อยเกือบทุกปี โดยติดต่อผ่านการไอ จาม ทำให้เชื้อฟุ้งกระจาย ติดต่อกันได้” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อ RSV ในประเทศไทยว่า “RSV เป็นโรคที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินหรือคุ้นเคยนัก เนื่องจากเป็นไวรัสที่คนไม่ค่อยนึกถึง หรือหากเจ็บป่วย แพทย์ที่โรงพยาบาลอาจจะไม่ได้ส่งตรวจ ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นโรคติดเชื้อ RSV อีกทั้ง โรคติดเชื้อ RSV ไม่ได้จัดเป็นหนึ่งในไวรัสที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่าต้องรายงานหากมีการตรวจพบผู้ป่วย ทำให้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันได้เริ่มมีการจัดทำระบบเฝ้าติดตามจำนวนผู้ป่วย ซึ่งจะทราบตัวเลขที่แน่ชัดได้ภายหลังการระบาดของเชื้อ RSV ในช่วงฤดูฝน โดยคาดว่าตัวเลขผู้ป่วยจะมีจำนวนมากในระดับหนึ่งหากได้รับการส่งตรวจอย่างถูกต้อง”

“ปัจจุบัน โรคติดเชื้อ RSV ยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะ เป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น หากมีอาการปวดหัว ให้กินยาแก้ปวดหัว หรือมีอาการไอ ก็กินยาแก้ไอ การป้องกันสามารถทำได้เหมือนกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสทั่วไป คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่นำมือสัมผัสใบหน้าและตา หมั่นดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันโรคติดเชื้อ RSV ในผู้ใหญ่ คือ วัคซีน” ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่อายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะแข็งแรงมากขึ้น แต่กลับหมายถึงโรคประจำตัวที่เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ตามมาทั้งหมด อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย ทำให้โรคติดเชื้อที่เคยเป็นในวัยเด็กจะกลับมาเป็นอีกรอบในวัยสูงอายุ ซึ่งการเป็นโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุรอบนี้ อาจมีอาการโรคที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบถึงเสียชีวิตได้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้เชื้อโรคต่าง ๆ ลดลงมาก แถมยังมีโรคประจำตัว เมื่อติดแล้วอาการจึงรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับโรค RSV การดูแลตนเองจากโรค RSV และทางเลือกในการป้องกันด้วยวัคซีนได้”