medicalfocusth

ยารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” และ “แพกซ์โลวิด” ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอน รพ.หรือเสียชีวิตได้ผลดี
ยารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” และ “แพกซ์โลวิด” ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอน รพ.หรือเสียชีวิตได้ผลดี
กระทรวงสาธารณสุขเผยประสิทธิผลการวิจัยยารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” และ “แพกซ์โลวิด” ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ผลดี แม้มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งไวรัสต่างกัน เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติวงเงินจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์สัปดาห์นี้ และนัดไฟเซอร์หารือการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดวันที่ 12 พ.ย. นี้
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แถลงข่าวยารักษาโควิด 19 โมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด ว่า เมื่อไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายจะจับกับตัวรับไวรัสและเข้าสู่เซลล์ จากนั้นจะใช้เอนไซม์โปรตีเอสเพื่อเพิ่มจำนวนโปรตีนออกมาแล้วถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมจาก RNA เป็น DNA เข้าไป ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนออกมามากขึ้น ซึ่งยาที่พัฒนาขึ้นจะไปยับยั้งกระบวนการต่างๆ ของไวรัส สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นยาชนิดรับประทาน มีกลไกการทำงานต่างกัน โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะยับยั้งการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะยับยั้งเอนไซม์การสร้างโปรตีนที่ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวน
สำหรับประสิทธิผลของยาทั้ง 2 ตัวนี้ จากการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ขนาดเม็ดละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด รวม 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน (40 เม็ดต่อคนในการรักษา) โดยให้จำนวน 385 คน และให้ยาหลอก 377 คน ติดตามผลในเวลา 29 วัน พบว่าช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 50% ในกลุ่มยาหลอกมีเสียชีวิต 8 ราย กลุ่มยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ส่วนการให้ยาแพกซ์โลวิดขนาดเม็ดละ 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง ให้วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดต่อคนในการรักษา) โดยให้จำนวน 389 คน และให้ยาหลอก 385 คน ติดตามผลในเวลา 28 วัน พบว่า หากได้รับยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89% หากรับยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการประสิทธิผลจะอยู่ที่ 85% ถือว่ายาทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิผลช่วยไม่ให้อาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหน ยังไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงรุนแรง
นพ.อรรถสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติงบการจัดซื้อสัปดาห์นี้ คาดว่าจะขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำมาใช้ได้ในช่วงธันวาคม 2564 หรือมกราคม 2565 ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะมีการหารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ หากมีความก้าวหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป ยืนยันว่าจะพยายามจัดหายาที่มีคุณภาพมารักษาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยให้ได้ในเวลารวดเร็ว หากทำให้ประชาชนเข้าถึงยา 2 ชนิดนี้ได้ง่าย ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี