medicalfocusth

กรมการแพทย์แผนไทยฯแนะ สมุนไพร และ เมนูอาหาร พิชิตเบาหวาน เนื่องในวันเบาหวานโลก
กรมการแพทย์แผนไทยฯแนะ สมุนไพร และ เมนูอาหาร พิชิตเบาหวาน เนื่องในวันเบาหวานโลก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ สมุนไพร และ เมนูอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมวิธีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เนื่องในวันเบาหวานโลก

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าในทุกวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation:IDF) โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อแต่เป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญทางสุขภาพทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินบกพร่อง อาการสำคัญที่สังเกตได้ของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย มีอาการชาปลายมือปลายเท้า หากมีบาดแผล มักจะหายช้าหากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา

สำหรับสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้นได้แก่ มะระขี้นก โดยจากผลการศึกษาวิจัยพบว่า มะระขี้นกมีสาร charantin สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เซลล์บริเวณผนังลำไส้เล็ก ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ และเสริม การเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และระบบประสาททำงานผิดปกติ นอกจากมะระขี้นกก็ยังมีผักพื้นบ้านชนิดอื่นที่ช่วยต้านเบาหวาน ได้แก่ ช้าพลู ตำลึง ผักเชียงดา ใบเตย โดยสามารถนำผักพื้นบ้านดังกล่าวมาประกอบเป็นเมนูอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานได้หลายเมนู เช่น มะระขี้นกผัดไข่ อกไก่ย่างห่อใบช้าพลู ต้มจืดตำลึง เครื่องดื่ม เช่น น้ำใบเตย น้ำมะระขี้นกปั่นผักรวม เป็นต้น

ปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมให้มีบริการคลินิกผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยโดยมีขั้นตอนการรักษา การตรวจร่างกายโดยอ้างอิงการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานจากแพทย์แผนปัจจุบัน และตรวจประเมินลักษณะทั่วไปควบคู่ไปด้วย การรักษาผู้ป่วยเบาหวานบางแห่งจะเป็นการรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งการตรวจลักษณะทั่วไปของแผนไทยนั้นก็มีวิธีการคล้ายกับแผนปัจจุบัน แต่ต่างกันตรงที่การวิเคราะห์และการแปรผล ซึ่งแผนไทยจะนำการตรวจร่างกายที่พบมาประเมินความผิดปกติของธาตุทั้ง 4 หรือตรีธาตุในร่างกาย สำหรับยาสมุนไพรที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ประกอบด้วย ช้าพลู มีรสขมร้อน สรรพคุณ แก้อาการบวมที่เท้า อาการปัสสาวะมาก เตยหอม รสหอมเย็น สรรพคุณ ลดอาการกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ต้นและรากเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคเบาหวาน และแก้กษัยน้ำเบาพิการ ขมิ้นชัน สรรพคุณ ลดภาวะโรคหลอดเลือดแข็งตัวและควบคุมภาวะไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง ป้องกันการเกิดการเต้นของหัวใจผิดจังหวะหลังการผ่าตัด การยืดอายุเม็ดเลือดแดงและเสริมฤทธิ์ของยาขับเหล็กในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย และการลดอาการปวด ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ มะระขี้นก รสขม สรรพคุณ ผลสามารถรักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเส้นเลือด แก้ไข้ แก้ร้อนใน ยามธุระเมหะ สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด และ ยาต้มสมุนไพรเฉพาะราย เป็นต้น ทั้งนี้การที่จะรักษาโรคเบาหวานด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ควรเลือกสถานพยาบาลที่ให้การรักษาด้านการแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐานมีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่ถูกต้อง

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดการบริโภคอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ด้วย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากประชาชนท่านใดสงสัยข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ติดต่อแพทย์แผนไทยได้ทั่วประเทศหรือสามารถสอบถามได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
โทร 0 2224 3261 – 2