medicalfocusth

ม.มหิดล ค้นพบยาใหม่ยับยั้ง “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ L1.2”
ม.มหิดล ค้นพบยาใหม่ยับยั้ง “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ L1.2”
แม้โลกในศตวรรษที่ 21 จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด แต่โรคที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของโลกในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ "วัณโรค" (Tuberculosis) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการยุติการแพร่ระบาดให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้าตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งองค์การสหประชาชาติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Pornchai Matangkasombut Center for Microbial Genomics: CENMIG) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นบุคคลสำคัญในฐานะผู้ผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางในการจัดฝึกอบรม (Training Center) เพื่อพัฒนางานวิจัยทางด้านจีโนมเพื่อการดูแลผู้ป่วยวัณโรคของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการศึกษาวิจัยทางจีโนมของเชื้อวัณโรคในประเทศไทย ร่วมกับทีมวิจัยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญที่เป็นรากฐานให้คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์ สามารถค้นพบว่า ยาปฏิชีวนะคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) สามารถยับยั้ง “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ L1.2” ซึ่งมักพบมากในประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศได้เมื่อเร็วๆ นี้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้อธิบายว่า “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ L1.2” เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่มีมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษของประชากรต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์กลุ่มนี้ในประเทศไทยได้รับการค้นพบ และรายงานโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และทีมวิจัย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2540

โดยในขณะนั้นใช้ชื่อว่า “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์นนทบุรี” เนื่องจากเป็นเชื้อตัวอย่างที่มาจาก สถาบันโรคทรวงอก จังหวัดนนทบุรี แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการแยกสายพันธุ์แบบใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือ “จีโนม” (Genome) จึงมีชื่อเป็นแบบตัวเลขแทน

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า “เชื้อวัณโรคสายพันธุ์ L1.2” ก่อโรครุนแรงกว่าปกติ จากการดำเนินงานวิจัยทราบเพียงว่า พบมากในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ร่วมกับทีมวิจัยทำการศึกษาจนสามารถพบว่า การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเบส 189 ของยีน whiB7 ทำให้เชื้อวัณโรคเปลี่ยนจาก “ดื้อยา” คลาริโธรมัยซิน มาเป็น “ไวต่อยา” ได้

ต่อมาคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ศึกษาต่อไปถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และพบว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ L1.2 ที่พบได้ในประเทศต่างๆ ในบริเวณทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า สายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคมีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่น เชื้อชาติ และภาษา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาวิจัยต่อยอดในเชิงนโยบายเพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นต่อไป

"วัณโรคในปัจจุบันแม้จะยังคงมีการระบาดอย่างแพร่หลายในบางพื้นที่ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ “การติดเชื้อดื้อยา” ที่ทำให้โลกต้องสูญเสีย จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

“จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของศูนย์ CENMIG คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยปัจจัยทางพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อมวลมนุษยชาติรอดพ้นมหันตภัยติดเชื้อดื้อยาดังกล่าว โดยจะเริ่มต้นศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งหากได้ผลออกมาดี จะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคติดเชื้อดื้อยาได้ต่อไปในวงกว้าง” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210