medicalfocusth

“ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยยาและสารเสพติด
“ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยยาและสารเสพติด
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เปิด“ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” สอนสายสามัญแก่ผู้ป่วยระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยยาและสารเสพติด

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด ยังคงระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยรูปแบบการแพร่ระบาด จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในขณะนั้นๆ เด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติและอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนบางส่วนหลงผิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังจะเห็นได้จากข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดของ สบยช. ในปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) พบผู้ป่วยทั้งหมด 6,106 คน เป็นเพศชาย 5,424 คน คิดเป็นร้อยละ 88.83 และเพศหญิง 682 คน คิดเป็นร้อยละ 11.17 ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ เฮโรอีน รองลงมาได้แก่ ยาบ้า และสุรา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ว่างงาน และ นักเรียน นักศึกษา ตามลำดับ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 19 ปี จำนวน 555 คน คิดเป็น ร้อยละ 9.09 ของผู้ป่วยทั้งหมด เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ควรจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะและโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติด และพัฒนาศักยภาพในการป้องกันสิ่งกระตุ้น รวมถึงปัจจัยยั่วยุต่างๆ ลดโอกาสการกลับไปใช้ซ้ำ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง ใช้ความสามารถและสติปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สบยช. ตระหนักถึงปัญหาเยาวชนติดยาและสารเสพติด รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยยาและสารเสพติดที่อาจเป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา

สบยช. จึงได้มีการเปิด “ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” ดำเนินการสอนสายสามัญให้แก่ผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยได้รับการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาสายสามัญ จากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดสอนใน 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. โดยมีผู้ป่วยให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังสำเร็จการศึกษาผู้ป่วยสามารถนำผลการศึกษาไปสมัครเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือสมัคร เข้าทำงานภายในหน่วยงานของ สบยช. และสถานประกอบการอื่น ๆ ตามความถนัดของตนเองและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคม ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด ได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี