medicalfocusth

ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 ให้แก่ นพ.มนตรี หนองคาย และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา
ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567  ให้แก่ นพ.มนตรี หนองคาย และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดงานประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 โดยมี ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท นพ.มนตรี หนองคาย แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2567 ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดตั้ง “รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการรักษาและร่วมพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างอันดีแก่บัณฑิตแพทย์ ในการทำประโยชน์สูงสุดแก่สังคมชนบท โดยแพทย์ผู้รับรางวัลจะได้รับเกียรติให้แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แด่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็น “ครูแพทย์” ที่เสียสละและอุทิศตน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานของแพทย์ไทยในชนบท แม้ว่าท่านจะครบเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังคงถ่ายทอดความรู้ให้กับบัณฑิตแพทย์ด้วยดีเสมอมา เพื่อเป็นการสืบทอดปณิธาน บรรดาศิษย์และญาติมิตรของท่านได้ร่วมกันบริจาคเงินก่อตั้ง “ทุนศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ” เพื่อสนับสนุนการจัด “ปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ” และเป็นรางวัลแก่แพทย์ดีเด่นในชนบทต่อไป

ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทว่า การคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทนั้น มีการพิจารณาคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การบริหารโรงพยาบาล บริหารบุคคล มนุษยสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก ความเสียสละ จริยธรรม ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการเสนอชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทจากทั่วประเทศให้คณะกรรมการฯ พิจารณาคัดเลือก พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ตลอดจนร่วมพูดคุยกับแพทย์ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนที่เข้ารับบริการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนและรอบด้าน

โดยในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกตามกระบวนการเป็นที่เรียบร้อย และมีมติให้ประกาศผล พร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 ในครั้งเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดสำหรับแพทย์ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชนบท

จากนั้น ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประกาศผลให้ นพ.มนตรี หนองคาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองมะโมง ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะพะงัน ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประจำปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ พร้อมกล่าวประกาศเกียรติคุณว่า “แพทย์ 2 ท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำที่น้อมนำหลักคุณธรรมมาใช้เพื่อครองตน ครองคน และครองงาน มีแนวคิดในการพัฒนาและส่งเสริมบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายสหวิชาชีพ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนยึดมั่นดำเนินงานตามหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และรางวัลที่แพทย์ทั้ง 2 ท่านได้รับนั้น ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่าและความเสียสละที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบอันดีแก่แพทย์รุ่นหลัง ในการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและชุมชนต่อไป”

อนึ่งในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.30-15.00 น. นพ.มนตรี หนองคาย และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ หัวข้อ “ชีวิตหมอชนบท” และ “เราจะเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ดีที่สุดเพื่อคนเกาะพะงัน” ตามลำดับ ณ ห้องประชุมอวย เกตุสิงห์ อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 3 รพ.ศิริราช อีกด้วย

ในปีนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มอบโล่เกียรติยศสำหรับแพทย์ดีเด่นในชนบท พร้อมด้วยเงินรางวัลท่านละ 200,000 บาท บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด มอบเงินรางวัลท่านละ 25,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ


ประวัติ นายแพทย์มนตรี หนองคาย
แพทย์ดีเด่นในชนบท
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2566

1. เกิดวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2522

2. ประวัติการศึกษา-อบรม
• พ.ศ. 2546 แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
• พ.ศ. 2552 5 weekend training in family medicine
• พ.ศ. 2553 Family practice learning
• พ.ศ. 2556 การอบรมฟื้นฟูวิชาการ update in family medicine 2013
• พ.ศ. 2559 ผู้บริหารสาธารณสุขระดับกลาง
• พ.ศ. 2559 เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน
• พ.ศ. 2560 Mini Master of Management
• พ.ศ. 2560 Fellowship program in health finance and management
• พ.ศ. 2562 Economic capital for hospital management
• พ.ศ. 2562 เศรษฐศาสตร์การเงินการคลังสำหรับเวชศาสตร์การจราจร
• พ.ศ. 2564 Hospital landscape in health economic3

3. ประวัติผลงานที่สำคัญด้านต่างๆ
• ด้านบริการ
เริ่มต้นการทำงานชุมชน ด้วยการทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ โรงพยาบาลหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาเริ่มสร้างทีมที่ทำงานเป็นเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เช่น อสม. เทศบาล อบต สร้างจิตอาสากลุ่มต่างๆ ที่ได้รับความสนใจและภูมิใจมากคือ จิตอาสาน้อย ที่รวบรวมเด็กช่วงปิดเทอมมาทำกิจกรรม
หลังจากงานเยี่ยมบ้านปกติ ดำเนินไปได้ด้วยดี จึงเริ่มพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นที่สนใจและยอมรับมากนัก แต่ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขตสุขภาพที่ 3 และเป็นตัวแทนนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการเวชปฏิบัติครอบครัว ประจำปี 2556 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ การสนับสนุนการศึกษา และการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อการมีรายได้เสริมในครอบครัว และการปลูกพืชผักไว้รับประทานเองในครอบครัว

หลังจากนั้น พ.ศ. 2558 ได้ย้ายที่ทำงานครั้งแรก มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนเปิดใหม่ ขนาด F3 ยังไม่มีแพทย์ประจำ จึงเป็นแพทย์คนแรกคนเดียวที่ต้องทำงานบริการและบริหารไปด้วย ในเวลาเดียวกันวิธีที่ง่ายที่สุดคือการนำสิ่งที่ทำประจำมาถ่ายทอดและสร้างทีมใหม่

โดยส่วนตัวเป็นผู้ปฏิบัติธรรมภาวนาตามคำสอนครูบาอาจารย์สายวัดป่าตั้งแต่พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของชีวิต การน้อมนำคุณธรรมมาใช้ นอกจากครองตนแล้ว ยังสามารถครองคนและครองงานได้อย่างดี เป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา จะลงมือทำพร้อมกับเจ้าหน้าที่เสมอ จนทำให้องค์กรเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

ช่วงที่มีการะบาดของโควิด 19 ทีมสามารถปรับบริบทจากการเยี่ยมบ้านเป็นการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน การส่งยา การปรับเป็น home isolation ทำให้ด้วยบริบทของโรงพยาบาลที่มีข้อจำกัดมาก สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอไปในคราวเดียวกัน

• ด้านบริหาร
1 ตุลาคม พ.ศ.2562 โรงพยาบาลวัดสิงห์ซึ่งประสบปัญหาวิกฤตการเงินระดับ 7 ติดต่อกัน 3 ปี ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท จึงได้มอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดสิงห์ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อเข้าไปวางระบบแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้เวลา 6 เดือน สามารถแก้วิกฤตได้ จึงรับสมัครผู้อำนวยการมาดำรงตำแหน่ง และคอยเป็นที่ปรึกษาให้ผู้อำนวยการใหม่อีกประมาณ 6 เดือน ปัจจุบันโรงพยาบาลวัดสิงห์ ไม่มีวิกฤตการเงินอีกและมีความมั่นคงทางการเงินการคลังสูง

ในระหว่างช่วงดังกล่าวได้พยายามหาช่องทางศึกษาอบรมด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็น ต่อการบริหารจัดการ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการบริการจัดการด้านการเงินการคลังระบบสุขภาพของจังหวัดชัยนาท และประธานคณะอนุกรรมการบริหารการเงินการคลังระบบสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งมีบทบาทดูแลเรื่องงบประมาณทั้งงบลงทุน งบเหมาจ่ายรายหัว งบค่าเสื่อมและการตรวจราชการกรณีปกติและกรณีพิเศษ ในเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด ตามคำสั่งการของท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลั่นกรองค่าเสื่อมเขตสุขภาพที่ 3 มีหน้าที่ตรวจสอบคำขอใช้งบค่าเสื่อม กำกับ ติดตาม ขยายเวลา และเรียกคืนงบประมาณ ของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 3 เพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตสุขภาพที่ 3

• ด้านวิชาการ
มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัดและเขตด้วยการเป็นวิทยากรในระดับโรงพยาบาล จังหวัด เขตสุขภาพ และศูนย์เรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัวกำแพงเพชร ซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงให้ ทีมสหสาขาวิชาชีพ ในทุกจังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 3 การเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานในเวที การประชุมวิชาการเวชปฏิบัติครอบครัวประจำปี 2556

การถ่ายทอดประสบการณ์จากพี่สู่น้อง ในพิธีปัจฉิมนิเทศ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เมื่อได้ย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลหนองมะโมง ยังทำงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลนักศึกษาแพทย์ที่มาศึกษาดูงาน นักศึกษาพยาบาลฝึกงาน การเป็นวิทยากรพิเศษและเป็นสถานที่รับดูงาน สำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับต้น

4. รางวัลที่เคยได้รับ
• รางวัลนักศึกษาแพทย์พฤติกรรมดีเด่น ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
• ชนะเลิศการนำเสนอผลงานดีเด่นรูปแบบการนำเสนอด้วยวาจา สาขาบริการปฐมภูมิ ในการประชุมมหกรรมวิชาการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอ เขตสุขภาพที่ 3
• รางวัลคะแนนรวมสูงสุดตลอดหลักสูตรการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง รุ่นที่ 30
• รางวัลแพทย์ต้นแบบศิษย์เก่าดีเด่น โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปี 2565
• ศิษย์เก่าดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567
• ชนะเลิศระดับประเทศ RLU Hospital Award ประจำปี 2567
• รางวัลระดับเครือข่าย RLU Network Award ประจำปี 2567
• ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2567



ประวัติ นายแพทย์วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา
แพทย์ดีเด่นในชนบท
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567
1. เกิดวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2523
2. ประวัติการศึกษา-อบรม
• ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา
• มัธยมศึกษา ปีที่ 1-5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา และสอบเทียบ
• พ.ศ. 2547 ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• พ.ศ. 2559 หนังสืออนุมัติ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน แพทยสภา
• พ.ศ. 2566 อบรมแพทย์ดูแลผู้ติดยาเสพติด

3. ประวัติการทำงาน
• 1 เมษายน 2547 - 30 เมษายน 2548
แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร
• 1 พฤษภาคม 2548 – 14 มิถุนายน 2561
แพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• 15 มิถุนายน 2561 – ปัจจุบัน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. ผลงานวิจัย
• พ.ศ. 2563 ประสิทธิผลของโปรแกรมการสร้างสุขสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• พ.ศ. 2564 การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยนอกในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 โรงพยาบาลเกาะพะงัน
5. ผลงานเด่น
• พ.ศ. 2562 การปรับเปลี่ยนการบริหารโรงพยาบาลที่เป็นเลิศ โดยโรงพยาบาลเกาะพะงันก่อนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ มีความเสี่ยงทางการเงินระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข สามารถพัฒนาเป็นระดับ 0 ซึ่งไม่มีความเสี่ยงทางการเงิน
• พ.ศ. 2562 การพัฒนาระบบการบริการของโรงพยาบาลสู่ SMART HOSPITAL โดยให้การบริการที่ทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นระบบ เกิดประสิทธิภาพกับผู้ใช้บริการ ลดระยะเวลารอคอย ลดภาระงาน เป็นที่ศึกษาดูงานของโรงพยาบาลต่างๆ มีความโดดเด่น เป็นต้นแบบที่ดี ของเขตสุขภาพที่ 11
• พ.ศ. 2563 พัฒนาระบบ SAVE PHANGAN MODEL โดยเสนอนโยบายการตรวจคัดกรอง 3 ชั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19)
6. รางวัลความภาคภูมิใจ
• พ.ศ. 2563 รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ระดับประเทศ) (ครุฑทองคำ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
• พ.ศ. 2564 รางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• พ.ศ. 2564 รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วมระดับดีเด่นประจำปี 2564 ในผลงาน “พะงันสร้างใจ ปฐมวัยสร้างชาติ” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
• พ.ศ. 2564 รางวัลแพทย์ดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พลูเกษร ในมูลนิธิแพทย์ชนบท
• พ.ศ. 2565 รางวัลแพทย์ในดวงใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• พ.ศ. 2567 ประกาศนียบัตรเพื่อแสดงว่าโรงพยาบาลเกาะพะงันป็นตัวแทนเขตสุขภาพที่ 11 เพื่อเข้ารับการประเมินรางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น (SAP award) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประเภทโรงพยาบาลปรับโฉมดีเด่น ระดับโรงพยาบาลชุมชน