medicalfocusth
ม.มหิดลชี้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ลดอาการทรุดด้วย Palliative Nutrition ใส่ใจคุณค่า ได้โภชนาการและรสชาติ
×
“อาหาร” คือ สิ่งที่จะคอยหล่อเลี้ยงชีวิตให้ยังดำรงอยู่ ไม่ว่าในยามที่ร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อม หรือกำลังเจ็บป่วยและอาหารเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการในทุกๆ วัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควรได้รับพลังงาน และสารอาหารเพื่อการรักษาตัวเอง และการทำงานที่ปกติของร่างกาย
รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา ศรีจำนงค์ รองผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักการรับประทานอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีร่างกายปกติ คือ อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เสริมสร้างการทำงานของร่างกาย ครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ และสารอาหารเชิงหน้าที่ ที่ช่วยให้การส่งเสริมการทำงานของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์
ในขณะที่ความสามารถในการรับประทานอาหารมีผลกระทบโดยตรงมาจากสภาพร่างกายและจิตใจ โดยมักลดลงในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Nutrition) ที่เกิดจากโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หาย หรือใช้ระยะเวลารักษายาวนาน ได้แก่ โรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ซึ่งการบริโภคอาหารที่ลดลง อาจส่งผลให้ฟื้นตัวยากขึ้นและอาการทรุดลงได้
แม้การเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Nutrition) จำเป็นต้องพิจารณาตามลักษณะอาการ อาหารบางประเภทที่ผู้ป่วยชอบ แต่ห้ามบริโภคในปริมาณที่เกินพอดีสำหรับผู้ที่มีร่างกายปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเสริมพลังงาน ในทางปฏิบัติอาจทำให้ผู้ป่วยระยะประคับประคองบริโภคได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาอาหารเพื่อผู้ป่วยในระยะพักฟื้น ตลอดจนผู้ป่วยในระยะประคับประคอง (Palliative Nutrition) จึงควรเป็นไปในแนวทางที่คำนึงถึงข้อจำกัดของผู้ป่วย โดยควรมีความอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการเคี้ยวกลืน เพื่อลดการสำลัก แต่ยังคงใส่ใจในเรื่องคุณค่าทางอาหาร โภชนาการ และรสชาติที่ดีสำหรับผู้ป่วย
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” สร้างสรรค์และมอบองค์ความรู้ในการพัฒนาอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เคียงข้างประชาชน ทั้งในยามปกติ และยามเจ็บป่วย โดยขอรับคำปรึกษาได้ที่
www.inmu.mahidol.ac.th
และ Facebook : Institute of Nutrition Mahidol University
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่
www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล