medicalfocusth

กรมวิทย์ฯ จับมือ มทบ.33 ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เพื่อลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก ตั้งเป้า “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก” พร้อมเชิญชวนหญิงไทยอายุ 30 – 60 ปี ลงทะเบียนรับชุดตรวจฟรี ที่แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง
กรมวิทย์ฯ จับมือ มทบ.33 ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เพื่อลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก ตั้งเป้า “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก”  พร้อมเชิญชวนหญิงไทยอายุ 30 – 60 ปี ลงทะเบียนรับชุดตรวจฟรี ที่แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และพันเอกกฤติคุณ นิโลบลเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 33 ลงนามบันทึกความร่วมมือในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self-samplingเพื่อลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก เป้าหมายสูงสุดให้ “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก”ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ มณฑลทหารบกที่ 33 โดยโรงพยาบาลค่ายกาวิละจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยพันเอกชัยเนตรอาร์ เนตรพิชิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายกาวิละและนางสาวนิตยา เพียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุมสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่ามะเร็งปากมดลูกจัดเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในหญิงไทย สาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ และมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เอง มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้หญิงไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี - 60 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี โดยในปี 2567จังหวัดเชียงใหม่ มีหญิงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการคัดกรองจำนวน 2 แสนกว่าราย ได้รับการตรวจคัดกรองแล้วประมาณ 5 หมื่นราย สาเหตุที่ตรวจคัดกรองได้ในจำนวนน้อยอยู่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน ที่อาจจะไม่มีเวลา ดังนั้นจึงต้องดำเนินการเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพราะหากดูเป้าหมายที่ต้องการในระดับประเทศจะพบยังมีผู้หญิงไทยไม่ได้เข้ารับการคัดกรองกว่า 13 ล้านคน โดยปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 645,000 คน ทั้งนี้ ได้เพิ่มทางเลือกให้หญิงไทยที่ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น ด้วยวิธี HPV DNA test ให้ครอบคลุมทั้ง14 สายพันธุ์เสี่ยงสูง โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) จากบริการตรวจห้องปฏิบัติการส่วนกลาง และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง ที่มีความพร้อมและได้มาตรฐาน

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่าในปี 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดแนวทางเชิงรุก ภายใต้โครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองหรือที่เรียกว่า วิธี HPV DNA Self-sampling โดยได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก14 สายพันธุ์เสี่ยงสูงแก่หน่วยงานเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศอบรมให้ความรู้ อสม. เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก วิธีการใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง จากนั้นให้ อสม.ที่ผ่านการอบรม เป็นผู้ชักชวนหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งให้คำแนะนำในการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยเป็นพี่เลี้ยง และส่งตัวอย่างให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป เกิดเป็นต้นแบบระดับจังหวัด และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ได้ดังนั้น หากโครงการนี้ดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งในหญิงไทยได้ตามเป้า จะทำให้เกิดข้อมูล Big Data ทำให้ทราบสายพันธุ์ของไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและเก็บข้อมูลในด้านของสายพันธุ์ HPV ในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบาดวิทยา และเป็นประโยชน์ในการวางแผนเชิงนโยบายเพื่อป้องกัน วินิจฉัย และรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งวางแผนในระบบสาธารณสุข อาทิ วัคซีน ยา การตรวจคัดกรองได้อย่างครอบคลุม จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก้าวสู่การแพทย์แม่นยำ

“สำหรับความร่วมมือกับมณฑลทหารบกที่ 33 โดยโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ จะให้คำแนะนำกับกำลังพล โดยกระบวนการเริ่มจากการอบรมให้ความรู้กับ อสม. และผู้รับผิดชอบงานให้มีความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก การป้องกันและการรักษา การคัดกรองเชิงรุกด้วย HPV Self-Sampling เพื่อค้นหา ชักชวนกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาคัดกรองให้ได้มากที่สุด และคาดหวังว่าจะหยุดโรคมะเร็งปากมดลูกให้ได้เพื่อเป้าหมายสูงสุดให้ “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก”โดยมีโรงพยาบาลค่ายกาวิละจะเป็นหน่วยเก็บรวบรวมตัวอย่าง จากนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ จัดรถมารับตัวอย่างนำไปตรวจวิเคราะห์ทั้งนี้ หากตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และเข้ารับการรักษาทันทีสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการตรวจมะเร็งจะค่อยๆ ลุกลามอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งกว่าจะรู้ตัวมีอาการก็ถึงขั้นกระจายไปทั่วแล้ว สร้างความทุกข์ทรมานให้ทั้งกับผู้ป่วยและครอบครัว

“ท้ายนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังหญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่30 ปี - 60 ปี ที่ไม่เคยได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ได้ฟรี โดยสามารถรับชุดเก็บตัวอย่างได้ที่ แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข โทร 0 2951 0000 ต่อ 99305, 98033 มือถือ 081-7518634 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว