รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิล คว้ารางวัลมหิดลทยากร ประจำปี 2567
รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิล คว้ารางวัลมหิดลทยากร ประจำปี 2567
รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พลิกวงการยาของไทย ในการกระจายยาให้กับผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม พร้อมร่วมเป็นแกนนำในการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม

รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล นิติศาสตรบัณฑิต และสาขาวิชาเศรษฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง) จากมหาวิทยาลัยรังสิต โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้รับตำแหน่งวิชาการ รองศาสตราจารย์พิเศษ สาขาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2566 ได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา

รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ได้เล่าย้อนหลังถึงช่วงแรกในชีวิตการทำงานว่า ในปี พ.ศ. 2522 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมชุมชน ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ขณะนั้นเป็นเภสัชกรรุ่นแรก ๆ ที่ออกไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลระดับอำเภอ และเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลเพียงคนเดียว ในช่วงนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศนโยบายการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งมีประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นของประชาชน จึงได้ออกไปประชุมชี้แจงและเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยาในหมู่บ้าน เพื่อให้มียาจำเป็นไว้ใช้ในหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นด้วย จึงสามารถจัดตั้งกองทุนยา 124 หมู่บ้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งอำเภอ โดยโรงพยาบาลทำหน้าที่ผลิตและสนับสนุนยาให้กับกองทุนยาทั้งอำเภอ และมีการวางระบบการประชุมร่วมให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่อนามัยอย่างต่อเนื่อง การออกเยี่ยม อสม. กองทุนยาทุกเดือน และการจัดงานมหกรรมสาธารณสุขมูลฐานประจำปี เป็นต้น ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถผลิตยาเพื่อสนับสนุนการสาธารณสุขมูลฐานได้ โรงพยาบาลราษีไศล จึงเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในด้านการสาธารณสุขมูลฐาน ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ในบทบาทด้านการบริการโรงพยาบาล รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ท่านได้มีส่วนในพัฒนาระบบการกระจายยาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมในสมัยนั้น จากระบบเดิมที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นระบบ Complete Floor Stock มาเป็นระบบการกระจายยาผู้ป่วยรายเตียงทุกวัน (Daily Dose) เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยไม่ได้รับยา หรือได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง และสามารถติดตามปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย โดยติดตามจากยาเหลือกลับมาของผู้ป่วยทุกวัน โดยในระบบการกระจายยาแบบใหม่ ได้มีการจัดทำ Drug Profile ของผู้ป่วยรายเตียง มีการจ่ายยาและภาขนะบรรจุยาให้ผู้ป่วยรายวันเฉพาะรายในยาแต่ละรายการ มีรถส่งยาแยกยาตามช่องของผู้ป่วยแต่ละเตียง ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นหลักการสำคัญของระบบ Unit Dose Drug Distribution System มีการจัดยาและส่งยาให้หอผู้ป่วยทุกเช้า และตรวจเช็คยาที่เหลือกลับ และร่วมกับหอผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาด้านยาของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการประยุกต์พัฒนาระบบการกระจายยาแบบ Unit Dose ในโรงพยาบาลของประเทศไทย และสามารถเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication Error) ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันเป็นตัวชี้วัดสำคัญตัวหนึ่งในการปฏิบัติงานของฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาล และต่อมาได้มีโรงพยาบาลต่าง ๆ และได้ขยายการดำเนินการในรูปแบบการกระจายยาดังกล่าวออกไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งในและนอกเขตจังหวัด ปัจจุบันระบบการจ่ายยาแบบ Daily Dose ก็เป็นระบบการกระจายยาหลักของโรงพยาบาลต่าง ๆ อีกด้วย

ในช่วงที่ รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ได้ปฏิบัติงานที่กระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบเภสัชกรรม (ในช่วงปี พ.ศ. 2533 - 2535) โดยการปรับบทบาทเภสัชกรให้เน้นทางด้านเภสัชกรรมคลินิก ในการดูแลผู้ป่วยด้านการใช้ยา (Patient-Oriented) จากเดิมที่เภสัชกร มีฐานความคิดจำกัดอยู่ในงานด้านการดูแล จัดหา เก็บรักษา จัดจ่ายยาและรวมถึงการผสมยาเป็นหลัก (Product-Oriented) โดยได้มีการจัดทำเป็นโครงการพัฒนางานเภสัชกรรมคลินิกในโรงพยาบาลและการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิกในระบบชุดวิชา (Module System) โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและคณะเภสัชศาสตร์ในส่วนภูมิภาค 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันจัดทำหลักสูตรร่วม พัฒนาแหล่งฝึกปฏิบัติร่วมกัน อีกทั้ง ได้ร่วมจัดการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มสมรรถนะของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยด้านยา โดยแต่ละคณะจะจัดการสอนในชุดวิชาที่คณะมีความถนัด เภสัชกรสามารถเข้าศึกษาในชุดวิชาของคณะต่าง ๆ โดยไม่ต้องลาเรียนเต็มเวลา และเมื่อเก็บหน่วยกิตได้ระดับหนึ่งจึงลงทะเบียนเรียนที่คณะใดก็ได้ใน 4 คณะนี้ แล้วใช้ระบบเทียบโอนหน่วยกิตกัน ซึ่งสมัยนั้นต้องถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการจัดการศึกษาที่สำคัญและสอดคล้องกับรูปแบบชีวิตการทำงานของเภสัชกรเป็นอย่างมาก

ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีการประกาศให้ภาวะค่าเงินบาทลอยตัว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2541 รายรับเงินบำรุงโรงพยาบาลรัฐจะลดลง 20-50 % ขณะที่รายจ่ายจะเพิ่มขึ้น 31.15 % ซึ่งหากโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ปรับตัว โรงพยาบาลหลายแห่งจะประสบปัญหาด้านการเงินจนอาจส่งผลให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงักได้ จึงได้จัดทำแนวทางและมาตรการปฏิรูประบบบริหารเวชภัณฑ์และแนวทางการจัดหาเวชภัณฑ์ร่วมกัน ตามโครงการพัฒนาสุขภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ (Good Health at Low Cost) เสนอกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ปรับตัวรองรับภาวะวิกฤตดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการให้โรงพยาบาลต่าง ๆ พิจารณาดำเนินการ ทั้งในเรื่องการปรับลดจำนวนรายการยาของโรงพยาบาล การเพิ่มสัดส่วนยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ลดจำนวนการสำรองยาในคลังยา การผลิตยาสนับสนุนซึ่งกันและกันในจังหวัด การจัดซื้อยาร่วมกันในจังหวัด ให้มีการประเมินการใช้ยา (Drug Use Evaluation) เป็นต้น พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีเงินบำรุงของโรงพยาบาลมากขึ้นและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และได้รับแต่งตั้งเป็น เลขานุการคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (รวมด้านสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมพิจารณาแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 23 ฉบับ ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการแพทย์แผนไทย จึงได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ โดยได้เพิ่มประเด็นเรื่องระบบยาสมุนไพรแห่งชาติขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นจุดเด่นสำคัญของประเทศไทย และเป็นแผนการขับเคลื่อนที่ที่ประชุมใหญ่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ได้ร่วมในการกำกับดูแลมาตรฐานและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยได้ร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดตั้งแต่ก่อตั้งสภาเภสัชกรรมในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน รวม 10 วาระ โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ 2 วาระ เลขาธิการ 3 วาระ อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 1 และ นายกสภาเภสัชกรรม 2 วาระ

รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ยึดหลักแนวคิดในการทำงานว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ด้วย หรือ อัตตานัง อุปมังกเร ซึ่งตรงกับคำขวัญของมหาวิทยาลัยมหิดล การที่เราพยายามเข้าใจและฟังคนอื่น จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความต้องการของคนอื่นมากขึ้น แนวคิดนี้เป็นประเด็นสำคัญของทุกคนโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้รับบริการดีขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น และอีกประการที่สำคัญ คือ ทัศนคติของเราในการทำงาน ผมเองชอบและยึดมั่นความคิดแบบ ผู้ชนะ (Winner Mindset) ซึ่งชอบในบทกลอนนี้มาก ที่ว่า
ผู้ชนะ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ แต่ผู้แพ้ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ผู้ชนะ เสนอสิ่งใหม่ให้ทุกครา แต่ผู้แพ้ สรรหาคำแก้ตัว
ผู้ชนะ มักบอก ฉันขอช่วย แต่ผู้แพ้ ไม่เอาด้วยเรื่องปวดหัว
ผู้ชนะ เห็นทางออกแม้มืดมัว ผู้แพ้ เฝ้าแต่กลัวเจอทางตัน
ผู้ชนะ รอโอกาสทองแม้ต้องยุ่ง ผู้แพ้ มุ่งแต่ร้ายที่หมายมั่น
ผู้ชนะ ว่ายากต้องฝ่าฟัน ผู้แพ้ บอกเลิกฝันมันยากไป

หากเรามีทัศนคติในการทำงานแบบผู้ชนะนี้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ต่อปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ พยามยาหาทางออกใหม่ ๆ ในทุกปัญหา ซึ่งจะทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จได้และสร้างสุขจากการทำงานได้

รองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจ ในการได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2567 ว่า ในอดีตรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงธิดา นิงสานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมในตอนนั้น เคยได้รับรางวัลดังกล่าวมาก่อน ก็รู้สึกภูมิใจแทนวิชาชีพเภสัชกรรม เนื่องจากเคยทราบมาว่ารางวัลมหิดลทยากร เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่มีเกณฑ์ และการแข่งขันสูงมาก เน้นการเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่นที่เกิดประโยชน์วงกว้างให้กับสังคมไทย ดังนั้น การได้รับรางวัลมหิดลทยากรครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นทวีคูณ สิ่งที่สำคัญ คือ เป้าหมายในการทำงานและการพัฒนาวิชาชีพที่ผ่านมา ตั้งแต่จบการศึกษาจนถึงปัจจุบันรวม 46 ปี โดยมุ่งเน้น ผลักดันและพัฒนาให้เภสัชกร มีบทบาทในการดูแลปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยและประชาชน สามารถสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยและประชาชนได้ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและสังคม ดังนั้น เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ได้ปฏิบัติพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีผลก่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ผมจึงรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ต้องขอขอบพระคุณคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการคัดเลือก เป็นอย่างสูงที่เห็นและให้คุณค่าแก่ผลงานที่ได้ทำมาต่อเนื่อง และยังช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ให้มุ่งมั่นทำสิ่งดีๆ ให้สังคมต่อไป