medicalfocusth
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ผู้ได้รับรางวัลมหิดลทยากร มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567
×
“มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หล่อหลอมการเรียนรู้ให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทั้งคุณลักษณะส่วนตัว ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ทำให้สามารถสร้างงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร วิชาชีพ สังคมและประเทศชาติ”
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้ง ยังได้รับการสรรหาให้เป็นประธานคณะผู้บริหาร วิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล ดูแลการออกวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติให้กับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ให้เทียบเท่าปริญญาเอกทางการพยาบาล เป็นการสร้างคนเพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน ซึ่งสำคัญมากในยุคที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลให้ก้าวหน้ารองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนและทันต่อการปฎิรูประบบสุขภาพของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประเทศอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาพยาบาลและผดุงครรภ์ จากมหาวิทยาลัย มหิดล ครุศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้รับทุนไปฝึกอบรมหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษา กลับมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาพยาบาลระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และร่วมพัฒนาคุณภาพการพยาบาลของฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ได้สร้างผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ การพัฒนาระบบพยาบาลเจ้าของไข้ในโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับหลายโรงพยาบาลในทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่มาศึกษาดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ การพัฒนาระบบและการเขียนบันทึกทางการพยาบาล การพยาบาลเด็กป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้วยการดูแลแบบองค์รวม และได้จัดฝึกอบรมพยาบาลให้สามารถสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้ตามมาตรฐานสากล ผลงานที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พยาบาลวิชาชีพและผู้บริหารการพยาบาล เพื่อให้เข้าใจและสนับสนุนการพัฒนาเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง/ APN (Advanced Practice Nurse) / พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน ในสาขาต่าง ๆ ที่ยากเกินกว่าพยาบาลทั่วไปจะดูแลแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดีได้เป็นต้นแบบในการพัฒนา APN เช่นเดียวกัน โดยโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวใน
ประเทศไทยในขณะนี้ ที่เปิดหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร / APN
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ได้กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักใน การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยนั้นซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะพยาบาลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง บทบาทการทำงานของพยาบาล เริ่มตั้งแต่การประเมินปัญหาหรือภาวะสุขภาพของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลและให้การช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและฟื้นหายให้ได้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงความเป็นองค์รวมและความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้ป่วยที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้และกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้โดยเร็ว โดยบทบาทพยาบาลในโรงพยาบาล แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) บทบาทอิสระ หมายถึง พยาบาลปฎิบัติหน้าที่โดยใช้ความรู้จากศาสตร์ทั้งทางด้านการพยาบาลและความรู้ที่เกี่ยวข้องในศาสตร์สาขาอื่นๆ ตัดสินใจวางแผนและให้การดูแลผู้เจ็บป่วย ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ช่วยฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพ พัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยให้มีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยทำงานอย่างเป็นอิสระภายใต้ขอบเขตของการพยาบาล และ 2) บทบาทร่วม หมายถึง พยาบาลปฎิบัติหน้าที่โดยทำงานร่วมกับแพทย์และทีมสหสาขา โดยนำแผนการรักษาของแพทย์สู่การปฏิบัติดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อให้หายจากโรคหรือควบคุมโรคได้
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ได้กล่าวอีกว่า พยาบาลไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่การดูแลผู้ป่วยยังต้องต่อเนื่องไปที่บ้านหรือในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้การดูแลสุขภาพที่บ้านหรือในชุมชนโดยพยาบาล ยังมุ่งดูแลชีวิตตั้งแต่แรกเกิด ดูแลสุขภาพมารดา สุขภาพและพัฒนาการของเด็กวัยต่าง ๆ สุขภาพคนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญของพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ได้กล่าวถึง ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลว่า วิชาชีพการพยาบาลเป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ การขาดแคลนพยาบาลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานและต่อเนื่อง เกิดผลกระทบต่อการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้น ได้เป็นผู้นำในการดำเนินการจนคณะรัฐมนตรีมีมติให้วิชาชีพการพยาบาลเป็นสาขาขาดแคลนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และสนับสนุนงบประมาณให้มีโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง (โครงการ 5 ปี) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 จนปัจจุบัน ทำให้สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สามารถรักษาพยาบาลวิชาชีพที่ผลิตและมีประสบการณ์แล้วนี้ไว้ในระบบได้ดีนัก ด้วยภาระหน้าที่หนักและมีความเสี่ยงสูง จึงยังมีปัญหาขาดแคลนพยาบาลอยู่
ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล เป็นปัญหาเรื้อรังทั้งของประเทศและทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ และภาวะการเจ็บป่วยที่มีทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการพยาบาลไม่เฉพาะแต่จำนวนที่ต้องเพิ่มขึ้น แต่ต้องการพยาบาลที่มีสมรรถนะสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ความต้องการที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม รวมทั้งนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ในระดับนานาชาติ ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตัวของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ความต้องการกำลังคนทางการพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก การขาดแคลนพยาบาลจึงยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี ได้กล่าวว่า การที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่สูงสุดของชีวิตการทำงาน โดยบุคคลที่จะได้รับ ต้องเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่น เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติ จึงรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่อยู่ในมหาวิททยาลัยมหิดล นับตั้งแต่เข้ามาเป็นนักศึกษาพยาบาลของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสุขในการศึกษาเล่าเรียนทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาเอกทางการพยาบาลของมหาวิทยาลัย ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่แนวหน้า และลำดับสูงสุดของประเทศ ภาคภูมิใจที่ได้มาศึกษา ณ สถาบันแห่งนี้ ที่สอนให้รัก ให้ความสำคัญ ช่วยเหลือและแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งและมีความพร้อมด้านวิชาการและการวิจัยสูงมาก สนับสนุนให้มีความสำเร็จทั้งในการเรียนและการทำงาน ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็น “ลูกมหิดล” และได้รับ “รางวัลมหิดลทยากร”