medicalfocusth

นักวิชาการ ม.มหิดล ห่วงวิกฤติช่วงวัย แนะปรับตัวรับปีใหม่ "อยู่กับ COVID-19" ยาวๆ อย่างมีสติ
นักวิชาการ ม.มหิดล ห่วงวิกฤติช่วงวัย แนะปรับตัวรับปีใหม่
อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี ถึงเวลา count down ต้อนรับปีใหม่ สองปีที่ผ่านมา COVID-19 ได้ทิ้งบทเรียนต่างๆ ไว้ให้ทุกคนบนโลกนี้ ต้องเรียนรู้ปรับตัวมากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" และวัคซีนที่ไม่ใช่ "สามเข็มจบ" เหมือนจะส่งสัญญาณว่า การต่อสู้ระหว่างคนกับ COVID-19 คงไม่จบลงง่ายๆ วัคซีนที่ไม่ใช่ "สามเข็มจบ" "นิวนอร์มอล" หรือวิถีชีวิตใหม่อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันใหม่ (New Paradigm) เพื่ออยู่ร่วมกับ COVID-19 ในระยะยาว

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญประชากรศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ช่วงวัย (Generation) กล่าวว่า วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกช่วงวัย ทำให้ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถไปต่อได้ในยุค “New Normal” ไม่ว่าจะเป็น “Silent Generation” (รุ่นทวด) “Baby Boomer Generation” (รุ่นปู่-ย่า-ตา-ยาย) “Generation X” (รุ่นพ่อ-แม่) “Generation Y” (รุ่นพี่-น้า/อา) และ “Generation Z” (รุ่นลูกอายุประมาณไม่เกิน 17 ปี) จากการที่กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบออนไลน์เกือบ 100% ตามมาตรการรักษาระยะห่าง พบว่าประชากรในกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

เริ่มตั้งแต่ “Silent Generation” ที่มักพบว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนเป็น “Island Generation” เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดทักษะทางดิจิทัล (Digital Literacy) เช่นเดียวกับ “Baby Boomer Generation” ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณ มีบางส่วนที่ยังปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี และบางส่วนใช้เทคโนโลยีแต่ขาดความเท่าทัน โดยพบว่ามักตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงจากโลกโซเชียล ในขณะที่ “Generation X” ซึ่งเป็น “Sandwich Generation” ที่อยู่ตรงกลางของทุกช่วงวัย โดยมีบางส่วนอยู่ในวัยทำงานช่วงใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นถึงผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ เปรียบเหมือนหัวเรือใหญ่ขององค์กร หรือ “Critical Generation” อาจพาองค์กร หรือกิจการล่มได้ หากไม่มีการปรับตัววางแผนล่วงหน้าแบบ “Proactive” ที่ดีพอ เพื่อรองรับสังคมแบบ “New Normal”

นอกจากนี้ ใน “Generation Y” ซึ่งถึงแม้ไม่ได้เกิดในยุคดิจิทัล แต่ก็โตมาพร้อมการเติบโตของโลกดิจิทัล ในบางรายที่เรียนมาในสาขาที่ไม่มีพื้นฐานทางดิจิทัล อาจประสบปัญหาในการประกอบวิชาชีพ จึงต้องมีการปรับตัวด้วยการ Upskill หรือเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลเพิ่มเติมถึงจะสามารถไปต่อไปได้อย่างราบรื่น ในขณะที่ “Generation Z” ซึ่งถึงแม้เกิดในยุคดิจิทัล และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่าเป็น “Digital Native” แต่ในทางกลับกันก็อาจตกเป็นเหยื่อของโลกโซเชียลได้อย่างง่ายดาย จากการขาดความเท่าทันได้ เนื่องจากเป็นวัยที่มีประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากพอ

สถานการณ์ COVID-19 ดึงเอากิจกรรมของทุกคน ทุก Generation เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งมีทั้งด้านมืด และด้านสว่าง กระบวนทัศน์ที่สำคัญคือการทำให้ทุกคนดำเนินชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างชาญฉลาด ทำมาหากินได้ อยู่ร่วมกันได้ ไปพร้อมกันได้ ร่วมงานกันได้ ช่วยเหลือกันได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเหลือใครเป็นเหยื่อ สร้างทุนทางสังคมให้พื้นที่ดิจิทัลเป็นพื้นที่ของทุก Generation อย่างเท่าเทียมและแท้จริง" รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้จาก www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210