medicalfocusth

วช.หนุนนักวิจัย ม.บูรพา พัฒนาโปรแกรมบริหารสมองเพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
วช.หนุนนักวิจัย ม.บูรพา พัฒนาโปรแกรมบริหารสมองเพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนุนทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา ในการพัฒนาโปรแกรมความเป็นเสมือนจริงสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองในผู้สูงอายุเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกัน หรือชะลอภาวะสมองเสื่อม ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยจะบูรณาการร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น และเป็นหนึ่งในผลงานการวิจัยที่จะนำไปแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 Thailand Research Expo 2022

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นอย่างยิ่งที่มีการคิดค้นนวัตกรรมหรืองานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อเยียวยา หรือบำบัดรักษาอวัยวะสำคัญของร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุ ทาง วช. จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบูรพา ที่สามารถพัฒนาคิดค้นโปรแกรมความเป็นเสมือนจริงสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองผู้สูงอายุ ซึ่งนำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทราวดี มากมี คณบดีวิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา และ ดร.พีร วงศ์อุปราช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนาโปรแกรมความเป็นจริงเสมือน โดยบูรณาการทฤษฎีความจำขณะคิดเกี่ยวกับภาพและมิติสัมพันธ์ (โปรแกรม Spatial Working Memory) ร่วมกับทฤษฎีการปรับตัวด้านการเคลื่อนไหวและจำภาพ (โปรแกรม Motor Adaptation) สำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองของผู้สูงอายุ

รศ.ดร.ภัทราวดี มากมี เปิดเผยว่าแรงจูงใจในการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมาเนื่องจากเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีสภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นและปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่าการฝึกสมองสามารถชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ ประกอบกับในสถานการณ์ COVID-19 เริ่มเกิดขึ้นจึงคิดโปรแกรมความเป็นจริงเสมือนสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองในผู้สูงอายุนี้ขึ้นมา โดยออกแบบโปรแกรมความเป็นจริงเสมือนอยู่ที่บ้านตนเอง แบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ ห้องครัวเสมือนจริง ห้องนอนเสมือนจริง และสวนหย่อมเสมือนจริง

สำหรับกระบวนการทำงานและลักษณะพิเศษของโปรแกรมนี้คือ เมื่อเปิดโปรแกรมเรียบร้อยแล้วให้เริ่ม เลือกตัวละครผู้สูงอายุซึ่งมี 8 ตัวแบ่งเป็นเพศชาย 4 ตัว และเพศหญิง 4 ตัว มีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายแตกต่างกัน เลือกกิจกรรมเหมือนอยู่บ้าน มี 3 กิจกรรม คือ ห้องครัวเสมือนจริง (Virtual Reality Kitchen) ห้องนอนเสมือนจริง (Virtual Reality Bedroom) สวนหย่อมเสมือนจริง (Virtual Reality Garden) องค์ประกอบของกิจกรรมสำหรับสร้างสถานการณ์จำลองสภาพแวดล้อมความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) ที่เป็นสถานการณ์ใกล้ตัว โดยเป็นกิจกรรมที่อยู่บ้าน และกิจกรรมการเล่น ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะมีองค์ประกอบเพื่อพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมอง (Executive Functions) ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย สนับสนุนกิจกรรม ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการวางแผน คิดยืดหยุ่น การมุ่งเน้นความสนใจ และการยับยั้งพฤติกรรม และกิจกรรมสามารถที่จะวัดผลและประเมินผล ผลการพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมองได้ ส่วนการวัดประสิทธิภาพผลที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาคะแนนการเพิ่มของหน้าที่การบริหารจัดการสมองก่อนและหลังฝึกสมองด้วยโปรแกรมนี้ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ความยับยั้งชั่งใจ (Inhibition) การปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Updating) และการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Shifting) ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยใช้โปรแกรม PEBL กิจกรรมทดสอบ (task) ย่อยในการวัด

ซึ่งแนวทางพัฒนาต่อยอดในอนาคต รศ.ดร.ภัทราวดีกล่าวว่า จะนำโปรแกรมนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและต่อยอดการทำวิจัยนี้ ซึ่งนอกจากจะศึกษาเชิงพฤติกรรมของผู้สูงอายุแล้ว ยังจะเพิ่มการศึกษาเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง(Electroencephalography = EEG) เพื่อยืนยันข้อมูลเชิงพฤติกรรม ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งการทำงานของสมองที่ผิดปกติได้ เพื่อนำไปสู่การชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา ติดตามได้จาก www.rmcs.buu.ac.th

ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ภัทราวดี มากมี วิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา Email : pattrawadee@go.buu.ac.th