medicalfocusth

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะการดูแลสุขภาพ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย จาก 3 กลุ่มอาการโรคยอดฮิต พร้อมชู พืช ผักสมุนไพร และเวชภัณฑ์ยาสมุนไพร ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค ในช่วงฤดูหนาว
กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะการดูแลสุขภาพ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย จาก 3 กลุ่มอาการโรคยอดฮิต            พร้อมชู พืช ผักสมุนไพร และเวชภัณฑ์ยาสมุนไพร ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค ในช่วงฤดูหนาว
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชน ควรดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคจาก 3 กลุ่มอาการ โรคยอดฮิตที่มักเจ็บป่วยช่วงฤดูหนาว พร้อมชู พืชผัก สมุนไพร และเวชภัณฑ์ยาสมุนไพร ที่เหมาะจะรับประทาน เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปราศจากโรคในช่วงฤดูหนาว

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป โดยหลายจังหวัดของประเทศไทยจะอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในฤดูฝน มีธาตุลมเป็นเหตุให้เจ็บป่วย ในฤดูหนาวมีธาตุน้ำเป็นเหตุให้เจ็บป่วย ช่วงนี้ร่างกายมีไอความร้อนค้างอยู่ ตอนหน้าฝน พออากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วปรับตัวไม่ทันเกิดภาวะธาตุไฟพิการ ก็เลยเจ็บป่วยได้ง่าย ในคนที่มีภูมิต้านทานดีก็จะไม่มีอาการใดๆ แต่ในคนที่ภูมิต้านทานไม่ค่อยดี ช่วงนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อน จะป่วยได้ง่ายมากในฤดูหนาว ตามหลักการแพทย์แผนไทย มีธาตุน้ำ เป็นที่ตั้งที่แรกของการเกิดของโรคต่างๆ หมายถึงการเจ็บป่วยมักเกิดจากธาตุน้ำก่อน อากาศที่เย็นลงทำให้เสมหะกำเริบ เกิดอาการภูมิแพ้ มีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ

ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ได้แบ่งกลุ่มโรคอาการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว ด้วยสาเหตุหลักจาก 3 กลุ่มอาการ คือ

1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด น้ำมูกไหล ไอจาม หรือ อาการภูมิแพ้อากาศ ซึ่งเกิดจากธาตุน้ำ (เสมหะ) แปรปรวน แพทย์แผนไทยจะเริ่มโดยการใช้อาหารในการปรับสมดุลของร่างกาย โดยใช้รสอาหาร เปรี้ยว ขม เบื่อ เอียน ดังคำโบราณว่า ปลายฝนต้นหนาว ให้กินแกงส้มดอกแค เพื่อปรับสมดุลธาตุในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล เนื่องจากแกงส้ม เครื่องแกง จะมีรสเผ็ดร้อน บำรุงและแก้เกี่ยวกับธาตุลม (ฤดูฝน) การปรุงรสโดยใส่มะขามเปียกให้มีรสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ บำรุงและแก้เกี่ยวกับธาตุน้ำ (ฤดูหนาว) รวมทั้งการใส่ดอกแค โดยดอกแคไม่ต้องเอาก้านเกสรออก รสขมจะช่วยแก้ไข้หัวลมได้ การกินแกงส้มดอกแคจะช่วย ปรับสมดุลธาตุในร่างกายไม่ให้ธาตุลมลดลงอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่น ๆ เช่น ต้มส้มปลาทู น้ำพริกมะขาม พืชผักสมุนไพรที่ควรรับประทานในช่วงฤดูนี้ ได้แก่ รสเปรี้ยวช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ เช่น มะขามป้อม ชะมวง มะนาว ตะลิงปลิง รสขม แก้ไข้ เจริญอาหาร นอนหลับสบาย เช่น ดอกแค ขี้เหล็ก สะเดา ส่วนยาสมุนไพรที่ควรมีไว้ติดตู้ยาได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร ช่วยแก้ไข้ ไอ เจ็บคอ โดยให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 3 แคปซูล หรือตามปริมาณของขนาดแคปซูลที่ใช้บรรจุ ทั้งนี้ ต้องได้รับปริมาณยาครั้งละ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง รวม 6,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรรับประทาน ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนเช่นกัน สำหรับยาฟ้าทะลายโจร ห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร และในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียเกิดอาการรุนแรง หากมีอาการไอมีเสมหะให้ใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาอมมะแว้ง แต่หากมีอาการภูมิแพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล สามารถใช้ ยาปราบชมพูทวีป ซึ่งเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน สามารถช่วยปรับสมดุลของธาตุน้ำ และธาตุลมที่ส่งผลให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้ วิธีรับประทานยาปราบ ชมพูทวีป ให้รับประทานครั้งละ 750 มิลลิกรัม - 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน มีข้อห้ามใช้ในกรณีที่มีไข้สูง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง สามารถสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในคลินิกการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ

2.อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นผลจากการแปรปรวนของธาตุน้ำส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายเสียสมดุลไปด้วย จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก แนะนำให้รับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และยังเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย ได้แก่ พริกไทย ขิง ข่า กะเพรา ตะไคร้ กระเทียม เมนูอาหารที่แนะนำเช่น แกงป่าไก่บ้าน ต้มยำปลา และ

3.อาการผิวหนังแห้ง คัน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย สำหรับการดูแลผิวพรรณช่วงฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่จะมีภาวะผิวแห้งกร้าน เนื่องจากผิวขาดน้ำ ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีสมุนไพรที่จะแนะนำ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะเขือเทศ น้ำมันมะพร้าว สรรพคุณ ช่วยบำรุงผิวพรรณชุ่มชื้นอ่อนนุ่ม มีน้ำมีนวล เป็นต้น

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงที่มีสภาพอากาศเย็นลง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง รักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วยการสวมเสื้อหนาๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พร้อมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6 – 8 ชั่วโมง ก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคในช่วงฤดูหนาวนี้