medicalfocusth

ม.มหิดล ค้นพบทางเลือกใหม่ ตรวจวินิจฉัยไข้เลือดออกได้โดยไม่ต้องเจาะเลือด
ม.มหิดล ค้นพบทางเลือกใหม่ ตรวจวินิจฉัยไข้เลือดออกได้โดยไม่ต้องเจาะเลือด
ในอดีตยังไม่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสเดงกีในผู้ป่วย โดยในเวชปฏิบัติทำได้เพียงการสังเกตรอยโรคเพื่อให้การรักษาตามอาการ ติดตามตรวจปริมาณเกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง และตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสเดงกีจริง จากการตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และไข้ลด

แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้แพทย์สามารถตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ จากเลือดด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบทางเลือกใหม่ในการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสเดงกี ด้วยวิธี ELISA (Enzyme-linked Immunosorbent assay) ที่ใช้ปัสสาวะของผู้ป่วยแทนเลือด

ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้ทดลองใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการรุนแรงน้อย เรียกว่า "ไข้เดงกีในระยะไข้" โดยพบว่าให้ผลแม่นยำร้อยละ 68.4

และผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น เรียกว่า "ไข้เลือดออกในระยะไข้" โดยพบว่าให้ผลแม่นยำร้อยละ 63.9

ซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเดงกี เพื่อหาข้อบ่งชี้ในการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ในเบื้องต้น

จากวิธีการดังกล่าว แม้จะให้ผลการตรวจที่สามารถนำไปประกอบการวินิจฉัยเบื้องต้น แต่ในรายที่ให้ผลตรวจเป็นลบ ต้องติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

และด้วยข้อจำกัดทางบุคลากรและงบประมาณ จึงทำให้การตรวจด้วยวิธี ELISA ในห้องปฏิบัติการนั้น จำเป็นต้องมีตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ พร้อมกันอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของแผงจานหลุม (plate) ซึ่งมีหลุมตัวอย่างทั้งสิ้น 96 หลุม โดยต้องเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจให้ครบก่อนจึงจะตรวจได้

ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลารอนานกว่าวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบแถบกระดาษ (strip) ซึ่งสามารถทราบผลการตรวจได้เฉพาะราย และเร็วขึ้น แต่ให้ผลที่แม่นยำร้อยละ 47.2 - 52.6 ต่ำกว่าวิธี ELISA

ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี ยังคงเป็นวิธีมาตรฐาน โดยตรวจเลือดรวมจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในระยะไข้ และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีว่าเป็นการ "ติดเชื้อปฐมภูมิ" (มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีได้อีก) หรือ "ติดเชื้อทุติยภูมิ" (โอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีอีกมีน้อยมาก)

ซึ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามความแตกต่างของสารพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ผู้คนที่มาจากต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ จะมีการตอบสนองต่อเชื้อที่แตกต่างกันด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงแนวโน้มของการติดเชื้อไวรัสเดงกีของประชากรโลกในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป

โดยพบว่า แม้ในที่ๆ ยังไม่เคยพบการระบาดของไวรัสเดงกีมาก่อน ก็อาจมีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีจากผู้เคยเดินทางไปในที่ๆ มีการระบาดของเชื้อไวรัสเดงกี ติดเชื้อไวรัสเดงกีโดยที่ไม่มีอาการแสดงอะไรเลย

ยุงเป็นพาหะรับเชื้อจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีระยะฟักตัวในยุงที่รับเชื้อเป็นเวลา 7 วัน ก่อนถ่ายทอดสู่ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อที่ถูกยุงที่มีเชื้อกัด ดังนั้นจึงควรระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ถูกยุงกัด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210