medicalfocusth

หน่วยงาน สธ. เข้มเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
หน่วยงาน สธ. เข้มเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและจังหวัดติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารความเสี่ยงและคำแนะนำสุขภาพต่อเนื่อง ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ออกแนวทางปฏิบัติงาน ปรับระบบบริการ เพื่อลดการเดินทาง เตรียมสถานที่ทำห้องสะอาดเป็น Safety zone ให้เจ้าหน้าที่/ผู้รับบริการ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและสื่อสารคำแนะนำประชาชน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทยที่สูงเกินค่ามาตรฐานในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 17 จังหวัด และพื้นที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 6 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน และพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินงานตามแนวทาง “3 มาตรการ 10 กิจกรรมสำคัญ” ได้แก่ 1) มาตรการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ, เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ, ยกระดับการสื่อสารเชิงรุก, สร้างความรอบรู้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 2) มาตรการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง, เปิดคลินิกมลพิษ/จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น, จัดระบบปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อดูแลประชาชน และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยมีระบบบัญชาการเหตุการณ์เมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤต, ส่งเสริมและขับเคลื่อนกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 โดยให้สถานบริการในสังกัดปรับระบบบริการตามบริบทพื้นที่ เช่น เลื่อนนัดผู้ป่วยตามความเหมาะสม และจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ เพื่อลดการเดินทาง, ให้การรักษาผ่านระบบ Telemedicine, จัดเตรียมสถานที่เป็นห้องสะอาด เพื่อเป็น Safety zone พื้นที่ปลอดฝุ่น สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ, สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันแก่บุคลากรในการปฏิบัติงานและผู้มารับบริการ, จัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และประชุมสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,730,976 ราย สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 228,870 ราย กลุ่มโรคที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเป็นพิเศษ โดยลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น, งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ, อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น, สังเกตอาการเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์