medicalfocusth

สบยช. เตือนภัย “HAPPY WATER” ส่วนผสมจากยาเสพติดหลายชนิด ออกฤทธิ์รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
สบยช. เตือนภัย  “HAPPY WATER” ส่วนผสมจากยาเสพติดหลายชนิด ออกฤทธิ์รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัย“HAPPY WATER” ส่วนผสมจากยาเสพติดหลายชนิด ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในหลายรูปแบบ อันตราย
ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เตือนประชาชน กลุ่มนักเที่ยว รวมไปถึงผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิง ระมัดระวังตนเอง ไม่รับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า HAPPY WATER เป็นสารเสพติดที่
กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดคิดค้นผสมขึ้นมาเอง โดยมีการนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน อาทิ เคตามีน ไอซ์ ยาอี
เมทแอมเฟตามีน สารไดอาซีแพม คาเฟอีน และ ทาร์มาดอน หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาผสมกัน และนำมาผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในหลายรูปแบบ ทั้งกระตุ้นประสาท หลอนประสาท กล่อมประสาทและกดประสาท แล้วแต่ว่าผู้ค้าผสมสารชนิดใดเป็นหลัก ทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ตื่นตัว คึกคัก จึงทำให้กลายเป็นที่นิยมในหมู่นักเที่ยวกลางคืน หรือกลุ่มปาร์ตี้ในพื้นที่ส่วนบุคคล
ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะการใช้ยาเสพติดหลายชนิดรวมกัน หรือเสพในปริมาณมาก ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้ระบบหัวใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันขบวนการค้ายาเสพติด มักจะนิยมนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมรวมกันโดยอ้างสรรพคุณว่าทำให้เกิดอาการมึนเมา และทำให้สนุกได้มากกว่าการเสพยาเสพติดเพียงชนิดเดียว แล้วนำบรรจุลงในซองที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อลอกเลียนแบบซองเครื่องดื่มต่างๆ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ และลักลอบจำหน่ายตามช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) รวมไปถึงตามสถานบันเทิง เตือนประชาชนทั่วไป นักเที่ยวกลางคืน รวมไปถึงผู้ที่ทำงานบริการในสถานบันเทิง ระมัดระวังการรับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้าซึ่งอาจจะถูกผสมยาเสพติดลงไปในเครื่องดื่มได้ และระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตรายและส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญกรรมต่าง ๆ และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง